วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

อลังการ"พระเมรุ"งดงามราวสรวงสวรรค์รายล้อมด้วยสัตว์ป่าหิมพานต์ประดับเพชรระยิบ


เมื่อวันที่ 4 เมษายน นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร พาคณะสื่อมวลชนในเครือมติชน เข้าเยี่ยมชมพระเมรุ  ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเมรุเพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  ภายหลังจากที่มีพระราชพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุเมื่อวันที่ 3 เมษายน และพร้อมที่จะใช้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 9 เมษายน 2555  ภายหลังจากที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  รับผิดชอบออกแบบ และก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ


นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร อธิบายถึงการออกแบบพระเมรุตามคติไตรภูมิ มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางมณฑลจักรวาลบนยอดพระสุเมรุคือสรวงสวรรค์ทิพยวิมานที่สถิตย์ของเทพยดา เขาพระสุเมรุรายล้อมด้วยสัตตบริภัณฑ์ ที่เชิงเขา พระสุเมรุคือป่าหิมพานต์มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์คือสระอโนดาต ที่อยู่ของสัตว์ในจินตนาการนานาชนิด

ฝีมือปูนปั้นโดยช่างผู้ชำนาญงานปั้นปูนสด (ช่างสมชาย บุญประเสริฐ เป็นหัวหน้าคณะ แบ่งงานให้ช่างปั้นจากจังหวัดเพชรบุรีและสุพรรณบุรี  ทั้งหมด 24  คน เป็นผู้ออกแบบและปั้นสัตว์หิมพานต์นานาชนิด  มีสวนนงนุช จังหวัดชลบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ ต้นไม้ประดับโดยรอบบริเวณพระเมรุและอาคารประกอบทั้งหมด


" กรมศิลปากรใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 81 วัน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบและกำกับดูแลการก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบพระเมรุในครั้งนี้ โดยออกแบบพระเมรุเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงมณฑปแปลง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รูปแบบพระเมรุแล้ว กรมศิลปากร โดยสำนักสถาปัตยกรรม ได้ดำเนินการเขียนแบบ ขยายแบบพระเมรุและอาคารประกอบ ตามขั้นตอนงานช่างอย่างไทย"

 

อธิบดีกรม ศิลปากรกล่าวเพิ่มเติมว่า สีที่ใช้ประดับตกแต่งเป็นสีประจำวันเกิดของ  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ  ในวันอังคาร คือ สีชมพู และเลือกเฉดสีที่ทรงโปรดคือสีส้มมาประดับตกแต่ง และเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นสตรีการเลือกสีและการตกแต่งจึงงดงดงามและอ่อนหวาน  ทั้งภายในและภายนอกมีการตกแต่งด้วยเหลี่ยมเพชร  ขณะที่ฉากบังเพลิงภายนอกเป็นรูปเทวดาทั้ง 4 ทิศ ด้านในวาดเป็นดอกกุหลาบซึ่งเป็นดอกไม้ทรงโปรด ในความหมายที่ว่ากลิ่นกุหลาบจะอบอวลไปตลอดเส้นทางเสด็จสู่สวรรคาลัยและตามเสด็จไปถึงทิพยพิมานด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น