วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

งานช่างสิบหมู่


งานช่างสิบหมู่ กล่าวได้ว่า เป็นงานช่างประเภทประณีตศิลป และ งานประเภทวิจิตรศิลปเป็นสำคัญ ทั้งนี้พึง ทราบได้ในชั้นต้น โดยชื่อที่ขนานนามหมู่ช่างพวกนี้ว่า “สิปป” คือ “ศิลป” บรรดาช่างสิบหมู่ จัดว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือ ความสามารถ และ ชำนาญการในการสร้างสรรค์ “สิ่งดีของงาม” ที่เป็นศิลปกรรม เพื่อสนองความประสงค์ ของราชการในส่วนพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่เนื่องด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา และ บริการแก่สังคม หรือ ผลงานที่ได้ สร้างให้เป็นผลสำเร็จ ด้วยฝีไม้ลายมือ และ ความสามารถทั้งในเชิงประณีตศิลปะ และ วิจิตรศิลปโดยแท้
ช่างสิบหมู่ หรือ บรรดาช่างทำการศิลปกรรมประเภทต่างๆ ซึ่งจะมีคำอธิบาย งานของช่างแต่ละหมู่ต่อไป ข้างหน้านี้ จัดว่าเป็นกลุ่มบุคคล ที่มีความสำคัญในการสร้างสรรค์แบบแผนของรูปลักษณะ ศิลปะลักษณะ ขนบนิยม และ ประเพณีนิยมขึ้นในงานศิลปกรรมแต่ละประเภท บริการแก่สังคม สมัยนิยม และ ค่านิยมในหมู่คนทั่วไป ในสังคม มักได้รับการชี้นำ หรือ กำหนดขึ้นจากแบบแผนทางรูปลักษณะ ของงานศิลปกรรมที่บรรดาช่างต่างๆ สร้างสรรค์ แสดงออก และ นำเสนอต่อสังคมแต่ละสมัย ช่างสิบหมู่แต่ละพวกๆ อาจดำเนินการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมด้วยวัสดุ ที่ต่างกัน ระเบียบวิธีสร้างงานที่ต่างกันก็ดี และ เนื้อหาสาระที่นำเสนอต่างๆ กันก็ดี แต่มีประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ สาระสำคัญทางด้าน “รูปลักษณะ” ที่บรรดาช่างใช้เป็น “สื่อ” แสดงออกความนึกคิด นึกเห็นให้ปรากฏเป็น “รูปธรรม” จะได้รับการแสดงออกด้วย “รูปลักษณะ” เป็นไปตาม “ขนบ และ ประเพณีนิยม” ตามๆ กันไปทั้งสิ้น
“รูปลักษณะ” ของงานช่างสิบหมู่นี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญ ซึ่งควรอธิบายต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง คือ คติความเชื่อ หรือ ประเพณีนิยมเนื่องด้วยรูปแบบ และ ลักษณะของรูปแบบ ซึ่งแสดงออกในงานช่างสิบหมู่ ประเภทต่างๆ ซึ่งพึงสังเกต เห็นได้จากรูปลักษณะของรูปแบบ ภาพมนุษย์ ภาพสัตว์ ภาพไม้ใบ และไม้ดอก ภาพภูเขา และพื้นน้ำ ภาพปราสาท และบ้านเรือน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นรูปลักษณะ ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นตามคติความเชื่อหรือ ประเพณีนิยมเป็นข้อกำหนด โดยถือการสร้างรูปลักษณะขึ้นใหม่ (re form) จากรูปลักษณะเป็นปรกติตามธรรมชาติ (natural form) เป็นต้นแบบแห่งความดลใจ (source of inspiration) ให้เกิดการสร้างสรรค์ (created) อันประกอบไปด้วยรูปลักษณะเหนือความเป็นจริงตามธรรมชาติ และ ความงามตามอุดมคติ (ideal) หรือ ประเพณีนิยม (traditional) แห่งสังคมไทย ดังนี้ รูปลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น รูปลักษณะประเภทลวดลาย ภาพมนุษย์ ภาพสัตว์ ภาพต้นไม้ และเขามอ ภาพบ้านเมือง เป็นต้น แล้วถ่ายทอดลงไว้ ในงานศิลปกรรมต่างๆ เป็นต้น งานเขียนภาพ งานปั้น งานแกะ งานสลัก ฯลฯ จึงเป็นแต่รูปลักษณะที่เป็น “รูปแบบประดิษฐ์” (invented form) และ เป็นรูปลักษณะที่เป็นไปตามคติความเชื่อ หรือ ประเพณีนิยมตามระบบ “อุดมคตินิยม” (idealism) โดยแท้
อนึ่ง งานศิลปกรรม ที่ได้รับการสร้างขึ้นบริการแก่สังคมไทย ที่มีมาแต่อดีตสมัย และ ในภายหลังเป็นลำดับ มานั้นก็ล้วนแต่ได้ใช้รูปลักษณะ ที่เป็นรูปแบบประดิษฐ์ ตามระบบอุดมคตินิยมตามกล่าวนี้ ดังนี้ ศิลปกรรม ที่ได้รับการ สร้างขึ้นโดยเฉพาะ บรรดาช่างสิบหมู่ก็ดี ช่างหลวง ช่างเชลยศักดิ์ พระภิกษุช่างก็ดี จึงได้รับการขนานนามเรียกชื่อว่า “ศิลปกรรมแบบไทยประเพณี” (Thai Traditional Art)
งานของช่างสิบหมู่ หรือ งานช่างในกรมช่างสิบหมู่เดิม ลำดับตามความสำคัญของหมู่ช่าง ในทำเนียบที่เป็นมาแต่อดีต มีช่างต่างๆ จัดลำดับขึ้นไว้ดังนี้
  • ๑. ช่างเขียน
  • ๒. ช่างปั้น
  • ๓. ช่างแกะ
  • ๔. ช่างสลัก
  • ๕. ช่างหล่อ
  • ๖. ช่างกลึง
  • ๗. ช่างหุ่น
  • ๘. ช่างรัก
  • ๙. ช่างบุ
  • ๑๐. ช่างปูน
ช่างสิบหมู่แต่ละหมู่ ย่อมมีแบบฉบับในการใช้วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระเบียบวิธีทำงาน และ กลวิธีในการสร้าง สรรค์งานศิลปกรรมแต่ละประเภทๆ แตกต่างกันออกไป และ เป็นไปเฉพาะหมู่หนึ่งๆ ซึ่งสาระของงานช่างสิบหมู่ที่ว่านี้ จะได้พรรณนาให้ทราบตามลำดับความสำคัญก่อน และหลัง ภายใต้หัวข้อว่าด้วยช่างต่างๆ ๆ ต่อไปนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น