วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ : ฝีมือครูวัดเซิงหวาย




         ศิลปะลายรดน้ำของไทยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยอยุธยา  สืบทอดต่อมาถึงสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตู้ลายรดน้ำฝีมือช่างชั้นสูงสมัยอยุธยาที่ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน  ที่สำคัญได้แก่  ตู้พระธรรมฝีมือครูวัดเซิงหวายซึ่งนับถือกันว่ามีความงามเป็นเลิศ  แสดงถึงอัจฉริยภาพของช่างไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒


ตู้พระธรรมลายรดน้ำ เมื่อครั้งเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร
         ตู้พระธรรมลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวายนี้  เดิมอยู่ที่วัดนางนอง  ธนบุรี  แต่ไม่ทราบปีที่นำมาเก็บรักษาไว้ยังหอพระสมุดวชิรญาณ  สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาก่อนพุทธศักราช ๒๔๕๔  เพราะปรากฏเรื่องเกี่ยวกับตู้หลังนี้ในหนังสือ ประตูใหม่” ฉบับวันที่  ๑  ธันวาคม  รัตนโกสินทรศก ๑๒๙  มีผู้แต่งบทศักรวากล่าวถึงตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวาย  ซึ่งตั้งแสดงให้ประชาชนชมที่หอพระสมุดวชิรญาณ  ว่า
         ศักรวาตู้ทองจำลองลาย                  วัดเซิงหวายลือดังครั้งกรุงศรี
 อายุนานไม่น้อยนับร้อยปี                        ราวสามสี่ล่วงแล้วเกือบแคล้วชม
บุญดำรงทรงราษฎร์ศาสนา                       จึงค้นคว้าของเก่าเข้าสะสม
ตั้งเรียงรายหอสมุดสุดนิยม                       มีเงินถมสองร้อยชั่งอย่าหวังเลย
และ

ภาพด้านหน้าจากตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยา ฝีมือครูวัดเซิงหวาย  (พช. พระนคร)
         ศักรวาตู้ทองวัดเซิงหวาย                 แลลวดลายดูเด่นเหมือนเส้นเหลา
สิงหราลดาดอกออกพรายเพรา                  ปักษาเจ่าจับจิกผกากิน
พฤกษาสูงใบเสียดประสานก้าน                 รอกทะยานเหยียบนกก็ผกผิน
แลแมลงแฝงเกสรภมรบิน                        ลายงามสิ้นดังเจียนทองมาทาบเอย


รายละเอียดภาพด้านซ้ายตอนล่าง


รายละเอียดภาพด้านขวาตอนล่าง
         ตู้พระธรรมสร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ  ที่จารลงในใบลาน  ตู้พระธรรมเหล่านี้แต่เดิมอยู่ใน หอไตร ตามอารามต่างๆ  ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  กล่าวถึงลักษณะของตู้พระธรรมไว้ว่า

         ตู้พระธรรมที่แท้จริงนั้น  มีทรงเป็นรูป ๔ เหลี่ยมลูกบาศก์  ส่วนบนสอบ  มีขาตั้งตรงมุม ๔ ขา  ยาวจากมุมของตู้ลงไปประมาณ ๑๕ หรือ ๒๐ นิ้ว  โดยทั่วไปขาของตู้พระธรรมนั้น (ส่วนมาก) ตกแต่งเป็นลายรดน้ำหรือทำเป็นลายจำหลัก  ไม้บ้าง  แต่เป็นส่วนน้อย  แม้ว่าตู้พระธรรมจะมีขนาดต่างกันอยู่มากก็ตาม  ขนาดเฉลี่ยโดยทั่วไปพอกำหนดได้ดังนี้ คือ  สูง ๕๐ นิ้ว  กว้าง ๔๐ นิ้ว  และลึก ๓๐ นิ้ว  ขาตู้ยาว ๑๕ หรือ ๒๐ นิ้ว  ภายในตู้มีชั้นหลายชั้นสำหรับวางห่อพระคัมภีร์  ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าจารลงในใบลานแล้วมัดเป็นผูกๆ ผูกละ ๒๕ ใบลาน

 ตู้พระธรรมขนาดใหญ่จำแนกตามลักษณะของ ฐาน หรือ ขา ได้เป็น ๔ แบบ คือ


๑.  ตู้พระธรรมฐานสิงห์  ทำเป็นฐานรองรับตู้จำหลักลวดลาย  ตู้พระธรรมลักษณะนี้นิยมทำในสมัยอยุธยา




๒.  ตู้พระธรรมขาสิงห์  ส่วนขาของตู้มักจำหลักเป็นเท้าสิงห์เหยียบบนลูกแก้ว  มุมของขาด้านบนจำหลักหรือเขียนลาย จมูกสิงห์ ทำนองเดียวกับโต๊ะขาสิงห์รองรับตู้ไว้

๓.  ตู้พระธรรมขาคู้  มีลักษณะคล้ายกับตู้ขาสิงห์  แต่ส่วนปลายของขาทั้งสี่คู้เข้าด้านใน

๔.  ตู้พระธรรมขาหมู  ส่วนปลายของขาทั้งสี่ตรงและผายออกรับกับแนวสอบด้านบน  ตู้ลักษณะนี้มักมีลิ้นชักประกอบอยู่ด้านล่าง

 
                                                                                    อย. ๗ 

ความเป็นมาของลายรดน้ำ

         ลายรดน้ำ  เป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย  จัดอยู่ในงาน ช่างรัก อันเป็นสาขาหนึ่งของช่างสิบหมู่  ลักษณะของลายรดน้ำเป็นการทำลวดลายหรือภาพปิดด้วยแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีแดง  สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้  หนังหรือไม้ไผ่สาน  เป็นต้น  มีตั้งแต่ภาชนะขนาดเล็ก เช่น  กล่อง  กรอบรูป  สมุก หมวก  โล่  ฯลฯ  และขนาดใหญ่ เช่น หีบ  โต๊ะ  ตู้  ฯลฯ

         นอกจากภาชนะต่างๆ  แล้วยังมีการทำลายรดน้ำเพื่อตกแต่งส่วนประกอบของอาคาร เช่น บานประตู  หน้าต่าง  ลับแล  ตลอดจนฝาผนังที่ทำด้วยไม้  ฝาผนังอาคารที่ตกแต่งด้วยลายรดน้ำนั้น  ยังเหลือร่องรอยหลักฐานการสร้างงานประเภทนี้อยู่ในที่ต่างๆ เช่น  หอเขียนวังสวนผักกาด  กรุงเทพมหานคร  พระตำหนักทอง  วัดไทร  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพมหานครและหอไตรวัดสิงห์  อำเภอสามโคก  จังหวัดปทุมธานี  ศิลปะลายรดน้ำของไทยเจริญสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓


                                                                            พช. พระนคร
                                             
         ลายรดน้ำนับว่าเป็นสัมฤทธิผลขั้นสุดท้ายของงาน ช่างรัก ศิลปะชั้นสูงของไทยแขนงนี้น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒  นานนับร้อยปี  ดังปรากฏหลักฐานใน พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง  ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  กล่าวถึงศักดินาของข้าราการ กรมช่างรัก ในหมวด ช่างสิบหมู่  ว่า

         ขุนสุวรรณ์ราชา          เจ้ากรมซ้าย               นา         ๓๐๐

         หมื่นสุวรรณ์นิมิต         ปลัดกรม                   นา         ๒๐๐

         ช่างเลว                                                   นาคล     ๕๐
         ขุนสุวรรณสิทธิ           เจ้ากรมขวา               นา         ๓๐๐

         หมื่นสุวรรณสาคร        ปลัด                        นา         ๒๐๐

         ช่างเลว                                                   นาคล     ๕๐

         หลักฐานดังกล่าวแสดงว่าศิลปะ ลายรดน้ำ หรือ ช่างรัก มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น แต่เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานงานฝีมือช่างสมัยดังกล่าวตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่ารูปแบบของลายรดน้ำในครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไร


ลายรดน้ำจากตู้หมายเลข กท. ๓๔๙  ตู้หลังนี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา  แต่ทะเบียนที่ลงไว้เป็นสมัยรัตนโกสินทร์
วิธีการทำลายรดน้ำ กล่าวโดยย่อ ดังนี้


         ขั้นตอนแรกของการทำลายรดน้ำต้องทาน้ำรักลงบนภาชนะหรือวัสดุนั้น  ลงพื้น จนได้ความหนาตามที่ต้องการแล้ว  ปล่อยทิ้งไว้จนแห้งสนิท  ชโลมด้วยน้ำดินสอพอง ล้างและเช็ดด้วยผ้าขาวที่สะอาดเป็นการ ประสะ พื้นรักมิให้เป็นมัน  เพราะหากเขียนลายลงบนพื้นรักที่เป็นมัน  หรดาลจะติดไม่สม่ำเสมอ  จากนั้นร่างภาพลงบนกระดาษ  ใช้เข็มปรุตามรอยเส้นภาพ  นำไปทาบบนพื้นที่จะเขียน  เอาดินสอพองเผาไฟบดละเอียดห่อด้วยผ้าขาวบางทำเป็น ลูกประคบ ค่อยๆ ประคบ  ลวดลายต้นแบบภาพจากผงดินสอพอง จะทะลุรอยปรุไปติดพื้นผิวรักตามรอยปรุเป็นแนวเส้นลาย  จากนั้นจึงใช้พู่กันจุ่มน้ำหรดาลเขียนลงบนรักตรงส่วนที่จะให้เป็นพื้นสีดำ 


สัตว์หิมพานต์จากตู้พระธรรมลายรดน้ำ  ฝีมือช่างสมัยอยุธยา
         เมื่อเขียนลายลงบนพื้นรักแล้ว  ก่อนที่จะปิดด้วยทองคำเปลวต้องเช็ดด้วย รักน้ำใส ที่ปราศจากน้ำเจือปน  วิธี เช็ดน้ำรัก ให้ใช้เศษผ้าขาวสะอาดเนื้อนุ่มจุ่มลงในน้ำรัก บีบให้เข้ากับเนื้อผ้า อย่าให้โชก นำไปเช็ดบนพื้น ซึ่งเขียนไว้เรียบร้อยแล้วให้ทั่วจึง เช็ดถอน ด้วยผ้าขาวสะอาดเนื้อนุ่มอีกครั้งหนึ่ง  ให้เหลือเพียงบางๆ พอปิดทองคำเปลวติด เมื่อปิดทองแล้วให้ใช้สำลีเช็ดกระชับ กวดให้ทองติดแน่น เอากระดาษซึ่งใช้ทองไปแล้วซับน้ำปิดทับลงบนทองที่ปิดไว้  ใช้สำลีชุบน้ำแตะเบาๆ บนกระดาษให้ทั่วจนสังเกตเห็นว่า เส้นหรดาลที่เขียนไว้พองตัวทั่วถึงแล้วจึง รดน้ำ  ด้วยน้ำสะอาดแล้วซับด้วยกระดาษชุบน้ำที่ปิดไว้เบาๆ  ส่วนที่เป็นหรดาลจะละลายหลุดออก  ทองที่ปิดบนพื้นรักจะติดแน่นเป็นลายรดน้ำ


ลวดลายด้านหลังตู้พระธรรมฐานสิงห์ ฝีมือช่างสมัยอยุธยา ผูกลายกระหนกมีลักษณะคล้ายรวงข้าว
        ภาพลายรดน้ำนิยมทำบนพื้นรักสีดำมากกว่าบนพื้นรักสีแดง  เพราะพื้นสีดำจะตัดกับลายทองทำให้มีความโดดเด่น  งดงามกว่า  ความงามของลายรดน้ำเกิดจากการประดิษฐ์ลวดลาย  ให้มีจังหวะและช่องไฟที่เหมาะสมประกอบกับฝีมืออันประณีตบรรจง
**************************

ข้อมูลอ้างอิง คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. ชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพมหานคร บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๔๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น