วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปแบบงานจิตรกรรมที่เปลี่ยนไป รูปแบบงานจิตรกรรมที่เปลี่ยนไป

การปฏิรูปจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์                กรุงรัตนโกสินทร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2325 นับจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 200 กว่าปีแล้ว ผลงานจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจิตรกรรมอยุธยาคือการเขียนภาพลายรดน้ำซึ่งใช้สำหรับตกแต่งบานประตู หน้าต่างในวัดวาอาราม มีการสร้างสรรค์อย่างแพร่หลาย ในสมัยนี้ แต่คุณค่าทางด้านฝีมือยังด้อยกว่าสมัยอยุธยา ในเรื่องความรู้สึกพลิ้วไหวและความมีชีวิตชีวา
               นอกจากนี้ งานประดับมุขก็เป็นงานประณีตศิลป์ ที่ได้รับอิทธิพลตกทอดมาจากสมัยอยุธยา เช่นเดียวกัน และฝีมือประณีตไม่แพ้กัน ซึ่งสามารถหาดูได้ที่บานประตูโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
               ทางด้านงานจิตรกรรมฝาผนังได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับจากสมัยอยุธยา จนถึงสมัย     รัตนโกสินทร์ มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังกันมาก และมีการพัฒนาฝีมือถึงขั้นเรียกว่า เจริญสูงสุด (Classic) งานจิตรกรรมไทยที่รักษารูปแบบ และสีสันเป็นภาพสองมิติ และแสดงฝีมือการตัดเส้นที่งดงามแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “จิตรกรรมไทยประเพณี” ช่างเขียนฝีมือชั้นครูในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 คือ “พระอาจารย์นาค” ได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยประเพณีไว้มากมาย ในปัจจุบันนี้หาดูได้ที่หอไตรของวัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร และยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังของช่างเขียนแบบไทยประเพณีอีกหลายแห่ง เช่น ที่วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร วัดสุวรรณารามวรวิหาร วัดสระเกศาราชวรมหาวิหาร วัดทองธรรมชาติวรวิหาร และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นต้น 

              นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดให้จัดทำ “สมุดไทย” ซึ่งเป็นการเขียนภาพจิตรกรรมกระดาษสมุดไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ คือ สมุดไทยของวัดบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นภาพวาดตำราเจ็ดคัมภีร์ และประกอบวรรณกรรมเรื่องพระมาลัย และทศชาติชาดก และโดยเฉพาะ “สมุดตำรารำ” ที่ใช้ฝีมือช่างจิตรกรรมไทย ถ่ายทอดท่ารำนาฏศิลป์ไทยอันงดงามเป็นมรดกตกทอดทางศิลปวัฒนธรรมไทยมาจนถึงทุกวันนี้ จึงนับว่าศิลปะด้านทัศนศิลป์ไทย ได้บูรณาการเชื่อมโยงกับนาฏศิลป์ไทยมาช้านานแล้ว
ขรัวอินโข่งกับผลงานจิตรกรรมไทยสามมิติ
               ในสมัยรัตนโกสินทร์นับเป็นยุคสมัยที่มีการปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความเจริญทัดเทียมกับอารยประเทศ ประเทศไทยได้ติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าอย่างเป็นทางการกับกลุ่มประเทศตะวันตกมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จึงได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านจิตรกรรมไทยจากศิลปะตะวันตกที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) มีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยในรูปแบบผสมผสานกับศิลปะสากลแบบตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะช่างเขียนไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้นคือ “ขรัวอินโข่ง” เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่เขียนภาพจิตรกรรมไทยที่มีแสงเงาและความตื้นลึกแบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนจริง และยังสะท้อนภาพชีวิตของชาวยุโรปอยู่งาน จิตรกรรมไทย นับว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ในงานจิตรกรรมไทยอีกด้วย   ในสมัยรัชกาลที่สี่แนวคิดในการเขียนจิตรกรรมตามประเพณีได้เปลี่ยนไป โดยจิตรกรไม่นิยมวาดภาพตามประเพณีแต่หันมาวาดภาพที่เป็นปริศธรรมและวัฒนธรรมประเพณีแทนดังเช่นจิตรกรรมที่วัดบววรนิเวศวิหารโดยฝีมือการวาดของขรัวอินโข่ง
               ขรัวอินโข่งมีชื่อเดิมว่า “อิน” เป็นชาวเพชรบุรี เมื่อท่านบวชเป็นพระที่วัดราชบูรณะ กรุงเทพมหานคร และครองเพศบรรพชิตตลอดชีวิต ประชาชนจึงเรียกท่านจนติดปากว่า “ขรัวอินโข่ง” ซึ่งหมายถึง “พระภิกษุผู้สูงอายุ” หรือ “ภิกษุผู้ยิ่งใหญ่” ส่วนนามที่เรียกท่านเป็นทางการคือ “พระอาจารย์เดิม”ซึ่งท่านได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยรับใช้เบื้องยุคคลบาทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มตั้งแต่พระองค์ยังทรงผนวช จวบจนเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นระยะเวลาอันยาวนาน
               ในระยะแรกขรัวอินโข่งยังเขียนภาพจิตรกรรมไทยเป็นแบบดั้งเดิม คือนิยมเขียนภาพเกี่ยวกับชาดก และพระพุทธศาสนาเป็นภาพแบบ 2 มิติ เช่น ภาพยักษ์ หน้าลิง ภาพวาดที่วัดมหาสมณาราม และหอราชกรมานุสรเป็นต้น
                ต่อมาท่านได้ศึกษารูปแบบงานจิตรกรรมตะวันตกจากงานภาพพิมพ์ที่แพร่หลายในหมู่มิชชันนารี และภาพที่ส่งมาจำหน่ายในเมืองไทยในสมัยนั้น แล้วนำมาประยุกต์ใช้พัฒนางานจิตรกรรมไทยเป็นภาพทิวทัศน์แบบตะวันตกโดยใช้ตัวละครและสถานที่แบบตะวันตก เช่น ภาพปริศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาสเป็นต้น
               งานจิตรกรรมไทยของขรัวอินโข่ง ถึงแม้จะนำเอาแบบอย่างวิธีการเขียนภาพจากตะวันตกมาใช้ แต่ก็ยังแสดงความเป็นอัจฉริยภาพของจิตรกรไทยที่สร้างจินตนาการจากความคิดและความเชื่อของไทยที่เป็นอยู่เดิม โดยเฉพาะปรัชญาทางพระพุทธศาสนา เช่น ภาพปริศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร และภาพนมัสการพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นงานชิ้นเดียวที่เขียนในจังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนของท่านเอง 

              นอกจากนี้ ขรัวอินโข่งยังได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรไทยที่เขียนภาพคนเหมือนแบบตะวันตกเป็นคนแรกซึ่งท่านได้เขียนภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันภาพดังกล่าวประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นับว่าเป็นงานภาพคนเหมือน(Portrait)ก็มีชื่อเสียงชิ้นแรกของเมืองไทย 
  ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรู้จักขรัวอินโข่งมาตั้งแต่ครั้งยังผนวช ทรงโปรดปรานฝีมือการเขียนภาพและเรียกใช้ขรัวอินโข่งเสมอ ไม่ว่าพระองค์จะไปสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งใด ก็มักจะโปรดให้ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับอาคารสถานที่นั้น ๆ นับว่าขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรที่ใกล้ชิดและมีฝีมือเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก
               ผลงานส่วนใหญ่ของขรัวอินโข่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและสภาพสังคมไทยในรัชรัตนโกสินทร์ ภาพวาดมีทั้งภาพไทยและภาพฝรั่ง เช่น ภาพวาดสีฝุ่นเรื่องทศชาติ ภาพวาดพระราชพงศาวดารในราชกรมานุสร ภาพปริศนาธรรม ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น
               ในระยะแรกขรัวอินโข่ง วาดภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนา ต่อมาท่านได้พัฒนาการวาดภาพเป็นภาพวาดปริศนาธรรม ซึ่งใช้ตัวละครและอาคารแบบฝรั่งเป็นการวาดภาพเหมือนจริง และนำเอาทัศนียวิสัยแบบ 3 มิติ มาใช้โดยให้ความสำคัญที่แสงและเงาแบบการวาดภาพทางยุโรป สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงความสามารถในการวาดภาพของขรัวอินโข่งไว้ว่า "…ประหลาดใจด้วยอาจารย์อินโข่งไม่เคยไปยุโรปก็จริง แต่แกได้อาศัยรูปภาพที่ฝรั่งทำกระดาษปิดฝาเรือนเข้าขาย เขียนรูปภาพฝรั่งครั้งสมัยต้นศตวรรษที่19ได้"
               ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ท่านยายามสร้างผลงานที่แปลกใหม่ไปจากจิตรกรรมฝาผนังในยุคก่อน ๆ ที่นิยมวาดภาพพุทธประวัติหรือทศชาติชาดก ผลงานของท่านจึงเป็นที่ชื่อชมและกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตราบจนถึงปัจจุบันนี้
               สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถานได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการเขียนภาพของขรัว อินโข่งไว้ว่า "สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ, สวัสดิกุลว่า "…เป็นช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ไม่แต่เขียนได้ตามแบบโบราณเท่านั้น ยังเขียนได้ตามแบบฝรั่งสมัยใหม่ได้ด้วย เป็นการแสดงความก้าวหน้าในทางเขียนรูปของไทย รูปภาพต่าง ๆ ที่ขรัวอินโข่งเขียนนั้นมีเงา เป็นการเขียนที่มีชีวิตจิตใจผิดกับนักเขียนไทยคนอื่น ๆ เคยโปรดฯ ให้เขียนรูปต่าง ๆ เป็นฝรั่ง ๆ ไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารรูปพวกนี้เป็นพวกแรก ๆ ของขรัวอินโข่ง ต่อมาเขียนรูปพระนเรศวรชนช้างไว้ในหอราชกรมานุสรหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามฝีมือดีนัก ในพระอุโบสถเขียนไว้ที่ห้องพระยาช้างเผือก กับเขียนรูปภาพประกอบโคลงสุภาษิตต่าง ๆ ภาพเหล่านี้เขียนเมื่อตอนแก่ ได้เคยพบเห็นด้วยตนเอง ผมแกขาวเป็นดอกเลา ภาพเหล่านี้อยู่ตามหน้าต่าง และประตูในพระอุโบถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝีมือพระอาจารย์อินโข่งในพิพิธภัณฑสถานยังมีอีกหลายรูป มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เขียนจากพระองค์เอง เป็นต้น" (จากบทวรรณคดี ฉบับพฤศจิกายน 2495) นอกจากนี้พระองค์ยังได้กล่าวถึงเทคนิคการเขียนภาพของขรัวอินโข่งว่า "ท่านเป็นช่างเขียนไทยที่คิดค้นหาวิธีเขียนภาพให้มีชีวิตจิตใจ เขียนได้เหมือนของจริงและนิยมใช้สีหม่น ๆ เช่น สีน้ำเงินปนเขียวเขียน ซึ่งถ้ามิได้เป็นช่างฝีมือดีจริงแล้วก็หาอาจทำให้ภาพงดงามได้ด้วยสี 2 สีนี้ไม่และเป็นคนแรกที่ได้เริ่มนำคตินิยมอันนี้มาเป็นศิลปะของไทย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ตรัสไว้ว่า "ความนิยมเขียนอย่างฝรั่งนั้น พระอาจารย์อินโข่งเป็นผู้นำขึ้นในรัชกาลที่ 4" (จากวารสารศิลปากรปีที่ 6 เล่ม 7 หน้า 55) เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระอาจารย์อินโข่งเป็นจิตรกรเอกผู้หนึ่ง 

               วิยะดา ทองมิตร กล่าวถึงคุณค่าของผลงานของขรัวอินโข่งไว้ว่า "ขรัวอินโข่ง วาดภาพเหมือนจริง และด้วยวิธีวาดแบบทัศนียวิสัย 3 มิติ ทำให้ภาพเกิดความลึก การใช้สีแบบ monochrome ที่ประสานกลมกลืนกัน ทำให้ภาพของขรัวอินโข่งมีบรรยากาศที่ชวนฝัน ทำให้ผู้ดูเกิดจินตนาการฝันเฟื่องตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นภาพวาดรูปต้นไม้ในป่า รูปต้นไม้และโขดเขาที่เพิงผาทางด้านผนังทิศเหนือ ด้านล่างที่มณฑป พระพุทธบาทวัด พระงามนั้นถึงจะไม่มีรูปบุคคลปรากฏอยู่ด้วยเลย แต่ภาพทั้งสองนี้ก็แลดูสวยด้วยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือภาพต้นสนที่เอนลู่ตามลมด้วยแรงพายุที่พัดอย่างแรงกล้านั้น ก็แลดูน่ากลัวสมจริงสมจังสัมพันธ์กับความน่ากลัวของภูตผีปีศาจที่มาขอส่วนบุญกับพระเจ้าพิมพิสาร
               ภาพวาดทุกภาพของขรัวอินโข่งแสดงให้เห็นถึงความประสานกลมกลืนของสีและบรรยากาศที่สลัว ๆ เสมือนกับทำให้ความคิดฝันที่ค่อนข้างเลือนลางนั้น ค่อย ๆ กระจ่างชัดในอารมณ์ รวมทั้งบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้ที่ร่มครึ้ม ทำให้จิตใจเกิดจินตนาการคล้อยไปตามภาพที่ได้เห็น…เมื่อวาดภาพชีวิตทางยุโรป ขรัวอินโข่งจึงพยายามสร้างอารมณ์และบรรยากาศเป็นประเทศเมืองหนาวโดยใช้วิธีแบบทึมๆ
               ขรัวอินโข่งจึงเป็นจิตรกรรมที่เขียนจิตรกรรมที่ต่างไปจากจิตรกรรมตามแบบประเพณี  ภาพที่วาดขึ้นแม้จะมีวีแบบทึมๆแต่ก็ให้ความงามในอีกรูปแบบหนึ่ง ศิลปะแบบเดิมเสื่อมลง แต่กลับได้สร้างศิลปะแบบใหม่ขึ้นดังที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ให้ทัศนะไว้ว่า  “หลังจากต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แล้ว จิตรกรรมฝาผนังไทยซึ่งเขียนขึ้นตามแบบดั้งเดิมก็เสื่อมลง จะคัดลอกกันไปตามตัวอย่างภาพที่สวยงามที่มีอยู่แต่ก่อน โดยผู้คัดลอกไม่มีความเข้าใจในความงาม รูปที่เขียนซ้ำแบบกันต่อๆมาก็ไม่มีชีวิตจิตใจอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ศิลปะตะวันตกก็ได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย และทุกคนก็ตื่นเต้นกับสิ่งแปลกๆนี้ เพราะเป็นของใหม่ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ว่าช่างเขียนก็ย่อมจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบตะวันตก ซึ่งค่อนข้างแข็งกระด้างและมีลักษณะคล้ายภาพถ่ายมากกว่าภาพเขียน ด้วยความปรารถนาที่จะฟื้นฟูจิตรกรรมของไทย และเพื่อจะดัดแปลงให้เป็นของทันสมัย ช่างของเราจึงพยายามที่จะเลียนแบบศิลปะตะวันตก โดยวาดภาพวัตถุทั้งหลายให้เป็นแบบสามมิติทั้งในแบบมีทัศนียวิสัย (perspective) และให้มีปริมาตร (volume) แต่เนื่องจากภาพเขียนของไทยเป็นแบบสองมิติ (คือแบนราบ) และมีทัศนียวิสัยเป็นแบบเส้นขนานกัน (ซึ่งมิใช่แบบวิทยาการ) เพราะฉะนั้นเมื่อช่างเขียนยอมรับเอาคติทางตะวันตกมาใช้ ภาพเขียนของเราก็เลยสูญเสียลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของตนเองกลายเป็นศิลปะครึ่งชาติไป ณ ที่นี้เห็นควรกล่าวไว้ด้วยว่า ภาพเขียนแบบดั้งเดิมของไทยนั้นเหมาะดีสำหรับใช้เขียนจิตรกรรม ฝาผนัง แต่แบบของตะวันตกนั้นเหมาะที่จะใช้เป็นภาพเขียนบนผืนผ้าใบ (ศิลป์ พีระศรี,ศิลปวิชาการ “วิวัฒนากาแห่งจิตรกรรมฝาผนังไทย”, กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,2546,หน้า 221)
               จิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดบรมนิวาสเป็นจิตรกรรมสมจริงแนวตะวันตกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในกระแสใหม่ (สันติ  เล็กสุขุม,จิตรกรรมไทย สมัยรัชการที่สาม: ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม,กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ,2548,หน้า 201)
               ความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ทำให้จิตรกรรมเปลี่ยนไปด้วยดังเหตุผลที่ศาสตราจารย์สิลป์ พีระศรีได้สรุปไว้ว่า “ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ในสมัยพระบาทสมเด้จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453)  ประเทศไทยได้นำเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศหลายประการคือการสร้างทางรถไฟ ถนนหนทาง โรงพยาบาล โรงเรียน การประปา การไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่ารายได้ของประเทศได้นำไปใช้เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ การสร้างวัดวาอารามจึงสดุดหยุดลง เป็นเหตุให้ศิลป์ตามประเพณีมิได้เป็นไปอย่างปกติเช่นสมัยก่อน (ศิลป์ พีระศรี,ศิลปวิชาการ “วิวัฒนากาแห่งจิตรกรรมฝาผนังไทย”, กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,2546,หน้า 390)
               จิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหารจึงมิได้เขียนตามแบบประเพณีแต่ได้ประยุกต์รูปแบบของชาวตะวันตกเข้ามาโดยแทรกอยู่ในงานจิตรกรรมบางครั้งจึงเห็นมีการแต่งกายแบบชาวตะวันตกในภาพด้วย จิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหารมีปรากฎอยู่ที่ พระอุโบสถตอนบน  พระอุโบสถตอนล่าง เสาพระอุโบสถ ภายในศาลาการเปรียญ หอไตร และภายในวิหารเก๋ง ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป
จิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศ 
               จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถตอนบนเขียนเป็นภาพปริศนาธรรมมีจำนวน 16 ภาพเช่น ปริศนาธรรมช่องที่ 1 เป็นรูปหมอยากำลังเยียวยาหมู่ชนผู้มีพยาธิให้หายจากพยาธิด้วยยาที่ได้ประกอบไว้แล้ว ณ ภายในตึกโรงพยาบาล เบื้องหน้าตึกมีหมู่ชนผู้มีพยาธิเดินเข้าสู่ตึกเองบ้าง มีผู้อื่นช่วยนำเข้าไปบ้าง ปริศนาธรรมข้อนี้มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังหมอยาผู้ฉลาด เพราะพระองค์เป็นผู้สามารถ ในการที่จะกำจัดพยาธิคือกิเลสกับทั้งอนุสัยเสียได้ พระธรรมเปรียบดังยาที่หมอได้ประกอบไว้โดยชอบแล้ว พระสงฆ์ผู้มีอนุสัยแห่งพยาธิคือกิเลสสงบแล้ว เปรียบดังหมู่ชนมีพยาธิสงบด้วยดีเพราะประกอบยาแล้ว
           
               ปริศนาธรรมช่องที่ 2 เป็นภาพมหาเมฆหลั่งน้ำฝนลงมาระงับสงบละอองในชนบท ที่ประกอบด้วยหมู่ชน ผู้ได้รับน้ำฝนพากันเป็นสุข ปริศนาธรรมข้อนี้มีความหมายว่าพระพุทธเจ้าเปรียบดังมหาเมฆ พระธรรมเปรียบดังน้ำฝน พระสงฆ์ผู้มีละอองคือกิเลสอันพระธรรมนั้นให้ระงับสงบแล้วเปรียบดังชนบทที่มีละอองอันความตกลงแห่งฝนให้สงบแล้ว
               ปริศนาธรรมช่องที่ 3 เป็นรูปสนามม้า มีนายสารถีขี่ควบม้าที่ฝึกดีแล้ว มีมหาชนยืนดู ปริศนาธรรมข้อสามมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังนายสารถีอันดี พระธรรมเปรียบดังอุบายเครื่องฝึกม้าอาชาไนย พระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้ฝึกดีด้วยพระธรรมนั้นแล้ว เปรียบดังหมู่ม้าอาชาไนยที่นายสารถีขี่นั้นฝึกได้ดีแล้ว
               ปริศนาธรรมช่องที่ 4  เป็นรูปหมอผ่าลูกศรถอนลูกศรขึ้นจากประชุมชนผู้ถูกลูกศรแทง ปริศนาธรรมข้อนี้มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังหมอผ่าลูกศร เพราะเหตุถอนลูกศรคือทิฏฐิทั้งปวงเสีย พระธรรมเปรียบดังอุบายสำหรับถอนลูกศรขึ้น พระสงฆ์ผู้มีลูกศรคือทิฏฐิอันถอนขึ้นด้วยดีแล้วเปรียบดังประชุมชนมีลูกศรที่หมอถอนขึ้นเสียด้วยดีแล้ว
               ปริศนาธรรมช่องที่ 5 เป็นรูปท่านผู้ให้ที่อุ่นใจ กำลังให้เครื่องอุ่นใจแก่ประชุมชน ที่เนินดินเป็นลานกว้างถัดเข้าไปมีหมู่ไม้มีตึกทำนองหอคอยหรือหอพัก
               ปริศนาธรรมช่องที่ 15 เป็นรูปดอกบัวใหญ่ บานเต็มที่อยู่กลางสระ มีหมู่ผึ้งกำลังเข้าบริโภครสหวานที่เกิดขึ้นที่ดอกบัวนั้นและมีหมู่ชนยืนชมอยู่ที่ริมสระ 
               ปริศนาธรรมข้อนี้มีความหมายว่า พระพุทธจ้าเปรียบดังดอกบัวอันบานแล้ว พระธรรมเปรียบดังรสหวานเกิดขึ้น ณ ดอกบัวนั้น พระสงฆ์ผู้เข้าไปบริโภคพระธรรมเปรียบดังหมู่ผึ้งอันเข้าไปบริโภครสหวานนั้น (คณะกรรมการอำนวยการฯ,ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2548,หน้า 19)
               ภาพเหล่านี้ถ้าหากไม่มีคำอธิบายภาพไว้คนรุ่นหลังคงเข้าใจได้ยาก เพราะไม่เหมือนกับภาพพุทธประวัติ ชาดก ไตรภูมิโลกสันฐานที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว เพราะมีปรากฎทางสื่ออื่นๆเช่นวรรณกรรม นิทาน เทศนาธรรมของพระภิกษุที่ชาวบ้านได้ฟังจนมองเห็นภาพพจน์ แต่ภาพปริศนาธรรมที่มีภาพของชาวตะวันตกผสมกับคนไทย จึงยากที่จะทำให้เข้าใจได้ จิตรกรจึงต้องเขียนคำอธิบายไว้
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถตอนล่าง
               เป็นภาพแสดงเหตุการณ์ณ์สำคัญๆเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมไทยและประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาจำนวน15ภาพเช่น                                                                                                                            
 
ภาพที่ 1 ฤดูบวช นำนาคถวายตัว พิธีภัณฑุกรรมโกนหัวนาค แห่นาคไปวัด
ภาพที่ 2 พิธีอุปสมบท ตอนสอบถามอันตรายิกธรรม เมื่ออุปสมบท แล้วฟังสอนนาค
ภาพที่ 3 กิจวัตรประจำวัน ฟังอุปัชฌาย์อาจารย์อบรม และทำวัตรไหว้พระในพระอุโบสถ 
ภาพที่ 4 ฟังพระปาฏิโมกข์ ชาวบ้านมาทำบุญเลี้ยงพระ ทำอุปัชฌายาจริยวัตร รับอบรมอาตรย์สอนหนังสือแก่ศิษย์วัด
ภาพที่ 5 ถวายผ้าจำนำพรรษา ศิษย์เก่ามาทำวัตรอุปัชฌาย์ ถวายพุ่มพรรษา
ภาพที่ 6 ประชาชนมาวัดถือศีล รักษาอุโบสถ ฟังธรรมในพรรษา
ภาพที่ 7 วันอุโบสถกลางเดือนสิบสอง พระที่จาริกหรือถือธุดงควัตร ต่างพากันมาร่วมอุโบสถสังฆกรรม ชาวบ้านลอยกระทง
ภาพที่ 8 กิจวัตรประจำวันของผู้อยู่ในวัด เป็นต้น
               ภาพกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ชาวพุทธต่างเข้าใจเพราะเป็นกิจกรรมที่เห็นอยู่จนชิน อย่างเช่นการบวชนาค มีให้เห็นอยู่ทุกวัดเมื่อถึงเทศกาลบวช ชาวบ้านต่างก็จะบวชลูกหลานเพื่อเป็นศาสนาทายาทต่อไป ภาพเหล่านี้จึงไม่ต้องมีการแปลความหรืออธิบายความไว้ เพราะชาวบ้านเข้าใจดีอยู่แล้ว
จิตรกรรมฝาผนังที่เสาพระอุโบสถ
               เรียกว่าฉฬาภิชาติหรือหกชาติ แสดงถึงจิตใจของคน 6 ประเภท ตั้งแต่ดำสนิทจนถึงขาวสะอาดเรียกว่าอภิชาต 6 คือ                    
                              กัณหาภิชาติ ชาติคนดำคือคนใจหยาบช้าทารุณเช่นพรานใจบาปต่างๆ
                              นีลาภิชาติ ชาติคนเขียวคือคนที่มีใจประกอบด้วยยุติธรรมมากขึ้น 
                              โลหิตาภิชาติ ชาติคนสีแดงคือคนที่มีจิตใจสูงขึ้น
                              หลิททาภิชาติ ชาติคนเหลือง คือคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
                              สุกกาภิชาติชาติคนขาวคือท่านผู้บริสุทธิ์
                              ปรมสุกกาภิชาติ ชาติคนขาวอย่างยิ่งคือท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด
                              ฉฬาภิชาติมีปรากฎในอปัณณกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 13  มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา อธิบายถึงคนประเภทต่างๆที่มีอยู่ในโลก แม้ปัจจุบันก็มิได้แตกต่างกันมากนัก
จิตรกรรมฝาผนังภายในศาลาการเปรียญ
               ประดับด้วยภาพเขียนในกรอบจำนวน 17 ภาพ เป็นฝีมือจิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างภาพเขียนในศาลาการเปรียญที่แสดงถึงอิทธิพลตะวันตกในยุคนั้น
จิตรกรรมฝาผนังที่หอไตร
               จิตรกรรมในหอไตรเป็นเรื่องการทำสังคายนาและประเพณีต่างๆ
                                                     
จิตรกรรมฝาผนังที่วิหารเก๋ง
               เป็นเรื่องเรื่องสามก๊กเช่นตอนที่เจียวก้านรับอาสาโจโฉไปเกลี้ยกล่อมจิวยี่ แต่จิวยี่รู้ทันตกค่ำเจียวก้านขโมยหนังสือปลอมของซัวมอ เตียวอุ๋น  อีกตอนหนึ่งเป็นตอนที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยไปเชิญขงเบ้งที่เขาโงลังกั๋งเป็นต้น
               จิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่สี่ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงจากจิตรกรรมแบบเดิมคงต้องอาศัยบทสรุปของปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูลว่า “ในบริบทของสังคมไทยต้นรัตนโกสินทร์โดยรวมนั้น จิตรกรรมเป็นสื่อทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีภาษาเฉพาะ และเป็นภาษาที่เอื้อและสนับสนุนการกล่าวถึงความคิดในการจัดระเบียบทางสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในกลุ่มต่างๆ ความคิดพื้นฐานนี้อาจจะปรากฏในสื่อทางวัฒนธรรมอื่นๆ เช่นการแสดงหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายในนาฏกรรม ดนตรี และศิลปกรรมแขนงต่างๆที่อยู่ในจารีตของราชสำนัก โดยเฉพาะสื่อทาง ศิลปกรรมต่างๆที่เกิดในโครงสร้างของสังคมเช่นเดียวกับจิตรกรรมนั้น น่าจะมีภาษาที่มีลักษณะร่วมกับจิตรกรรมอยู่ไม่น้อย หากแต่การเปรียบเทียบสื่อต่างๆเหล่านี้อย่างสมบูรณ์เป็นเรื่องที่เรายังจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีก (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, ภาษาของจิตรกรรมไทย: การศึกษารหัสของภาพ และความหมายของสังคมวัฒนธรรมของจิตรกรรมพุทธศาสนาต้นรัตนโกสินทร์,รายงานการวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.หน้า 14)
               เมื่อแนวคิดในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่สี่เปลี่ยนไป จิตรกรที่เคยทำงานในสมัยรัชกาลที่สามจะทำอะไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าจะศึกษาค้นคว้าต่อไป  จิตรกรเหล่านี้เมื่อไม่อาจเขียนภาพตามที่เคยเขียนได้ น่าจะออกมาเขียนภาพตามต่างจังหวัดนับเป็นจุดเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังไทย
               วัดบวรนิเวศวิหารมีจิตรกรรมร่วมสมัยที่เปลี่ยนจากรูปแบบงานจิตรกรรมในอดีต ภาพบางอย่างมีการสอดแทรกแนวคิดสมัยเข้าไป โดยมิได้ยึดติดกับธรรมเนียมในการเขียนภาพแบบดั้งเดิม เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในงานจิตรกรรม สมัยปัจจุบันงานจิตรกรรมมีราคาอาจขายได้ภาพละหลายแสนบาทบาท งานจิตรกรรมฝาผนังตามพระอุโบสถต่างๆเป็นงานที่ทรงคุณค่าแม้จะเป็นงานที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ เพราะจิตรกรมีชื่อเสียงเช่นที่วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงรายเป็นต้น
               หากใครอยู่ใกล้วัดบวรนิเวศวิหารอยากสัมผัสความงามและสุนทรียทัศน์กับงานจิตรกรรมฝาผนัง ก็เชิญแวะชมได้ ส่วนพระอุโบสถท่านจะเปิดให้ชมวันไหนนั้นต้องติดต่อสอบถามเอาเอง เพราะปัจจุบันวัดบวรนิเวศวิหารกำลังมีการซ่อมแซมปรับปรุงหลายอย่าง อาจไม่สะดวกนัก แต่ถ้ามีโอกาสควรเข้ามาเสพสุนทรียรสแห่งงานจิตรกรรมที่สื่อถึงยุคสมัยได้อย่างยอดเยี่ยม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น