วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

จิตรกรรมวัดโพธิ์

Image



Image



Image



Image




Image


พี่เพชร เชิดกลิ่น

คลิปนี้เป็นการเขียนสีอะครีลิก จริงๆไม่มีอะไรมากบังเอิญเจอพอดี เป็นเทปที่พี่เพชร เชิดกลิ่น เป็นรุ่นพี่ที่คณะศิปกรรม มหาสารคามไปสาธิตการเขียนรูปเลยเอามาโพสลงเฉยๆ

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ : ฝีมือครูวัดเซิงหวาย


ศิลปะลายรดน้ำของไทยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยอยุธยา  สืบทอดต่อมาถึงสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตู้ลายรดน้ำฝีมือช่างชั้นสูงสมัยอยุธยาที่ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน  ที่สำคัญได้แก่  ตู้พระธรรมฝีมือครูวัดเซิงหวายซึ่งนับถือกันว่ามีความงามเป็นเลิศ  แสดงถึงอัจฉริยภาพของช่างไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒


ตู้พระธรรมลายรดน้ำ เมื่อครั้งเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร
         ตู้พระธรรมลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวายนี้  เดิมอยู่ที่วัดนางนอง  ธนบุรี  แต่ไม่ทราบปีที่นำมาเก็บรักษาไว้ยังหอพระสมุดวชิรญาณ  สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาก่อนพุทธศักราช ๒๔๕๔  เพราะปรากฏเรื่องเกี่ยวกับตู้หลังนี้ในหนังสือ ประตูใหม่” ฉบับวันที่  ๑ ธันวาคม  รัตนโกสินทรศก ๑๒๙  มีผู้แต่งบทศักรวากล่าวถึงตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวาย  ซึ่งตั้งแสดงให้ประชาชนชมที่หอพระสมุดวชิรญาณ  ว่า
         ศักรวาตู้ทองจำลองลาย                  วัดเซิงหวายลือดังครั้งกรุงศรี
 อายุนานไม่น้อยนับร้อยปี                        ราวสามสี่ล่วงแล้วเกือบแคล้วชม
บุญดำรงทรงราษฎร์ศาสนา                       จึงค้นคว้าของเก่าเข้าสะสม
ตั้งเรียงรายหอสมุดสุดนิยม                       มีเงินถมสองร้อยชั่งอย่าหวังเลย
และ

ภาพด้านหน้าจากตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยา ฝีมือครูวัดเซิงหวาย  (พช. พระนคร)
         ศักรวาตู้ทองวัดเซิงหวาย                 แลลวดลายดูเด่นเหมือนเส้นเหลา
สิงหราลดาดอกออกพรายเพรา                  ปักษาเจ่าจับจิกผกากิน
พฤกษาสูงใบเสียดประสานก้าน                 รอกทะยานเหยียบนกก็ผกผิน
แลแมลงแฝงเกสรภมรบิน                        ลายงามสิ้นดังเจียนทองมาทาบเอย


รายละเอียดภาพด้านซ้ายตอนล่าง


รายละเอียดภาพด้านขวาตอนล่าง
         ตู้พระธรรมสร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ  ที่จารลงในใบลาน  ตู้พระธรรมเหล่านี้แต่เดิมอยู่ในหอไตร ตามอารามต่างๆ  ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  กล่าวถึงลักษณะของตู้พระธรรมไว้ว่า

         ตู้พระธรรมที่แท้จริงนั้น  มีทรงเป็นรูป ๔ เหลี่ยมลูกบาศก์  ส่วนบนสอบ  มีขาตั้งตรงมุม ๔ ขา  ยาวจากมุมของตู้ลงไปประมาณ ๑๕ หรือ ๒๐ นิ้ว  โดยทั่วไปขาของตู้พระธรรมนั้น (ส่วนมาก) ตกแต่งเป็นลายรดน้ำหรือทำเป็นลายจำหลัก  ไม้บ้าง  แต่เป็นส่วนน้อย แม้ว่าตู้พระธรรมจะมีขนาดต่างกันอยู่มากก็ตาม  ขนาดเฉลี่ยโดยทั่วไปพอกำหนดได้ดังนี้ คือ  สูง ๕๐ นิ้ว  กว้าง ๔๐ นิ้ว  และลึก ๓๐ นิ้ว  ขาตู้ยาว ๑๕ หรือ ๒๐ นิ้ว  ภายในตู้มีชั้นหลายชั้นสำหรับวางห่อพระคัมภีร์  ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าจารลงในใบลานแล้วมัดเป็นผูกๆ ผูกละ ๒๕ ใบลาน

 ตู้พระธรรมขนาดใหญ่จำแนกตามลักษณะของ ฐาน หรือ ขา ได้เป็น ๔ แบบ คือ


๑.  ตู้พระธรรมฐานสิงห์  ทำเป็นฐานรองรับตู้จำหลักลวดลาย  ตู้พระธรรมลักษณะนี้นิยมทำในสมัยอยุธยา




๒.  ตู้พระธรรมขาสิงห์  ส่วนขาของตู้มักจำหลักเป็นเท้าสิงห์เหยียบบนลูกแก้ว  มุมของขาด้านบนจำหลักหรือเขียนลาย จมูกสิงห์ทำนองเดียวกับโต๊ะขาสิงห์รองรับตู้ไว้

๓.  ตู้พระธรรมขาคู้  มีลักษณะคล้ายกับตู้ขาสิงห์  แต่ส่วนปลายของขาทั้งสี่คู้เข้าด้านใน

๔.  ตู้พระธรรมขาหมู  ส่วนปลายของขาทั้งสี่ตรงและผายออกรับกับแนวสอบด้านบน  ตู้ลักษณะนี้มักมีลิ้นชักประกอบอยู่ด้านล่าง

 
                                                                                    อย. ๗ 

ความเป็นมาของลายรดน้ำ

         ลายรดน้ำ  เป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย  จัดอยู่ในงาน ช่างรัก อันเป็นสาขาหนึ่งของช่างสิบหมู่  ลักษณะของลายรดน้ำเป็นการทำลวดลายหรือภาพปิดด้วยแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีแดง  สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ หนังหรือไม้ไผ่สาน  เป็นต้น  มีตั้งแต่ภาชนะขนาดเล็ก เช่น  กล่อง  กรอบรูป  สมุก  หมวก  โล่  ฯลฯ  และขนาดใหญ่ เช่น หีบ  โต๊ะ ตู้  ฯลฯ

         นอกจากภาชนะต่างๆ  แล้วยังมีการทำลายรดน้ำเพื่อตกแต่งส่วนประกอบของอาคาร เช่น บานประตู  หน้าต่าง  ลับแล  ตลอดจนฝาผนังที่ทำด้วยไม้  ฝาผนังอาคารที่ตกแต่งด้วยลายรดน้ำนั้น  ยังเหลือร่องรอยหลักฐานการสร้างงานประเภทนี้อยู่ในที่ต่างๆ เช่น หอเขียนวังสวนผักกาด  กรุงเทพมหานคร  พระตำหนักทอง  วัดไทร  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพมหานครและหอไตรวัดสิงห์  อำเภอสามโคก  จังหวัดปทุมธานี  ศิลปะลายรดน้ำของไทยเจริญสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓


                                                                            พช. พระนคร
                                             
         ลายรดน้ำนับว่าเป็นสัมฤทธิผลขั้นสุดท้ายของงาน ช่างรัก ศิลปะชั้นสูงของไทยแขนงนี้น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ นานนับร้อยปี  ดังปรากฏหลักฐานใน พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง  ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  กล่าวถึงศักดินาของข้าราการ กรมช่างรัก ในหมวด ช่างสิบหมู่  ว่า

         ขุนสุวรรณ์ราชา          เจ้ากรมซ้าย               นา         ๓๐๐

         หมื่นสุวรรณ์นิมิต         ปลัดกรม                   นา         ๒๐๐

         ช่างเลว                                                   นาคล     ๕๐
         ขุนสุวรรณสิทธิ           เจ้ากรมขวา               นา         ๓๐๐

         หมื่นสุวรรณสาคร        ปลัด                        นา         ๒๐๐

         ช่างเลว                                                   นาคล     ๕๐

         หลักฐานดังกล่าวแสดงว่าศิลปะ ลายรดน้ำ หรือ ช่างรัก มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น แต่เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานงานฝีมือช่างสมัยดังกล่าวตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่ารูปแบบของลายรดน้ำในครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไร


ลายรดน้ำจากตู้หมายเลข กท. ๓๔๙  ตู้หลังนี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา  แต่ทะเบียนที่ลงไว้เป็นสมัยรัตนโกสินทร์
วิธีการทำลายรดน้ำ กล่าวโดยย่อ ดังนี้


         ขั้นตอนแรกของการทำลายรดน้ำต้องทาน้ำรักลงบนภาชนะหรือวัสดุนั้น  ลงพื้น จนได้ความหนาตามที่ต้องการแล้ว  ปล่อยทิ้งไว้จนแห้งสนิท  ชโลมด้วยน้ำดินสอพอง  ล้างและเช็ดด้วยผ้าขาวที่สะอาดเป็นการ ประสะ พื้นรักมิให้เป็นมัน  เพราะหากเขียนลายลงบนพื้นรักที่เป็นมัน  หรดาลจะติดไม่สม่ำเสมอ  จากนั้นร่างภาพลงบนกระดาษ  ใช้เข็มปรุตามรอยเส้นภาพ  นำไปทาบบนพื้นที่จะเขียน  เอาดินสอพองเผาไฟบดละเอียดห่อด้วยผ้าขาวบางทำเป็น ลูกประคบ ค่อยๆ ประคบ  ลวดลายต้นแบบภาพจากผงดินสอพอง  จะทะลุรอยปรุไปติดพื้นผิวรักตามรอยปรุเป็นแนวเส้นลาย  จากนั้นจึงใช้พู่กันจุ่มน้ำหรดาลเขียนลงบนรักตรงส่วนที่จะให้เป็นพื้นสีดำ 


สัตว์หิมพานต์จากตู้พระธรรมลายรดน้ำ  ฝีมือช่างสมัยอยุธยา
         เมื่อเขียนลายลงบนพื้นรักแล้ว  ก่อนที่จะปิดด้วยทองคำเปลวต้องเช็ดด้วย รักน้ำใส ที่ปราศจากน้ำเจือปน  วิธี เช็ดน้ำรัก ให้ใช้เศษผ้าขาวสะอาดเนื้อนุ่มจุ่มลงในน้ำรัก  บีบให้เข้ากับเนื้อผ้า อย่าให้โชก นำไปเช็ดบนพื้น ซึ่งเขียนไว้เรียบร้อยแล้วให้ทั่วจึง เช็ดถอน ด้วยผ้าขาวสะอาดเนื้อนุ่มอีกครั้งหนึ่ง  ให้เหลือเพียงบางๆ พอปิดทองคำเปลวติด  เมื่อปิดทองแล้วให้ใช้สำลีเช็ดกระชับ กวดให้ทองติดแน่น เอากระดาษซึ่งใช้ทองไปแล้วซับน้ำปิดทับลงบนทองที่ปิดไว้  ใช้สำลีชุบน้ำแตะเบาๆ บนกระดาษให้ทั่วจนสังเกตเห็นว่า เส้นหรดาลที่เขียนไว้พองตัวทั่วถึงแล้วจึง รดน้ำ  ด้วยน้ำสะอาดแล้วซับด้วยกระดาษชุบน้ำที่ปิดไว้เบาๆ  ส่วนที่เป็นหรดาลจะละลายหลุดออก  ทองที่ปิดบนพื้นรักจะติดแน่นเป็น ลายรดน้ำ


ลวดลายด้านหลังตู้พระธรรมฐานสิงห์ ฝีมือช่างสมัยอยุธยา ผูกลายกระหนกมีลักษณะคล้ายรวงข้าว
        ภาพลายรดน้ำนิยมทำบนพื้นรักสีดำมากกว่าบนพื้นรักสีแดง  เพราะพื้นสีดำจะตัดกับลายทองทำให้มีความโดดเด่น งดงามกว่า  ความงามของลายรดน้ำเกิดจากการประดิษฐ์ลวดลาย  ให้มีจังหวะและช่องไฟที่เหมาะสมประกอบกับฝีมืออันประณีตบรรจง
**************************

ข้อมูลอ้างอิง คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. ชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพมหานคร :บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๔๙.


วัดภูมินทร์

วิหารจัตุรมุข วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
วิหารจัตุรมุข วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
จิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
จิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่านจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
วัดภูมินทร์วัดภูมินทร์ อยู่ใกล้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหาร สร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั่งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างเมืองน่าน นอกจากนี้ฝาผนังแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรมของยุดสมัยที่ผ่านมาความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ คือ เป็นพระอุโบสถและพระวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน เป็นทรงจัตุรมุข (กรมศิลปากร ได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจัตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย) นาคสะดุ้งขนาดใหญ่ แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้บนกลางลำตัว ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกด้านประตู ทั้งสี่ทิศ เบื้องพระปฤษฎางค์ชนกัน ภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปกรรมไทลื้อ ที่เล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต
ประวัติของวัด
ตามพงศาวดารเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ หลังจากที่พระองค์ทรงครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างแต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2410 หลังจากที่สร้างมา 271 ปี โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน โปรดให้ซ่อมแซมครั้งใหญ่แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2418 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนาแต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น
สิ่งน่าสนใจ
วิหารจัตุรมุข เป็นงานสถาปัตยกรรมล้านนาแบบพิเศษ ที่มีความงดงามอยู่อย่างลงตัว โดยนำโบสถ์และวิหารมาสร้างรวมเข้าเป็นอาคารเดียวกัน รูปจัตุรมุข มีบันได และประตูออกทั้งสี่ทิศ ที่ราวบันไดเป็นปูนปั้นรูปพญานาค หันเศียรนาคขึ้นสู่เบื้องบน ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน บ่ายพระพักตร์สู่ประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ เบื้องหลังพระปฤษฎางค์เป็นฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง
จิตรกรรมฝาผนัง  ภาพวาดปรากฏอยู่บนผนังด้านในวิหารจัตุรมุขทั้งสี่ด้าน ผนังด้านทิศเหนือ ตะวันออก และใต้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวกนั่งข้างละสององค์ สันนิษฐานว่าคงเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา และต่ำลงมาได้เขียนเป็นภาพขนาดเล็กเล่าเรื่อง “คันธกุมารชาดก”ต่อเนื่องกันตลอดทั้งสามด้าน ส่วนผนังด้านทิศตะวันตก ตอนบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในปางไสยาสน์ มีพระสาวกแสดงอาการเศร้าโศกอยู่สี่องค์ ตอนล่างลงมาเป็นภาพเล่าเรื่อง “พระเตมีราชชาดก” นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมซึ่งโดดเด่นเป็นพิเศษคือ ภาพเหมือนบุคคลและภาพวิถีชีวิตชาวน่านในอดีต ที่น่าสนใจ ได้แก่
1. ภาพบริเวณยอดเสาซ้ายมือของประตูด้านทิศตะวันออก นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพเหมือนของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้
2. ภาพผนังขวามือของประตูทางทิศเหนือ เป็นภาพชายหญิงกลุ่มหนึ่งยืนหยอกเย้า เกี้ยวพาราสีกัน แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการแต่งกายในอดีต สังเกตว่าช่างได้ใส่อารมณ์ความรู้สึกลงบนใบหน้าคนในภาพอยู่างเต็มที่ ซึ่งต่างกับงานจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางอยู่างสิ้นเชิง เป็นภาพที่มีชื่อเสียงและงดงามมาก พลาดชมไม่ได้
3. ภาพที่ยอดเสาขวามือของประตูด้านทิศตะวันตก เป็นภาพชายวัยกลางคนมีเคราดก ใบหน้าคล้ายชาวตะวันตก สวมเสื้อสีแดง สวมหมวก และสะพายย่าม สันนิษฐานว่าเป็นมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา
4. ภาพบนผนังซ้ายมือของประตูด้านทิศตะวันตก เป็นรูปชายหนู่มหญิงสาวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน ชายเปลือยอก เห็นรอยสักเต็มไปทั้งแขน ไหล่ หน้าอก พุง และหน้าขา เป็นการสักตามสมัยนิยม อันเป็นที่มาของการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ลาวพุงดำ” ตำแหน่งของภาพจงใจเขียนให้อยู่ข้างหลังประตู และเขียนอยู่างประณีตมาก น่าจะเป็นภาพเหมือนของช่างวาดเอง ภาพนี้จัดเป็นภาพชิ้นเยี่ยม
5. ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน
6. ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง

7. ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกชานมีเรือนเล็กๆตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน
8. ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น
ที่ตั้ง ในตัวเมือง ต. ในเวียง อ. เมือง ใกล้ภิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน

ช่างบุ




                 งานบุ   เป็นงานช่างที่ทำให้เป็นผลสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติงานตามขนบนิยมโบราณอย่างวิธีบุโลหะ  ในลักษณะตกแต่งผิวภายนอกของงานประเภทศิลปภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถาปัตยกรรม ให้มีคุณค่าสวยงามและมั่งคงถาวร
                 คำว่า "บุ" เป็นคำกริยาอย่างหนึ่ง หมายถึง การเอาของบางๆทา หรืออีกนัยหนึ่งคือ การตีให้เข้ารูป เช่น บุขันทองลงหิน เป็นต้น  
                 วัสดุที่เหมาะกับงานบุ คือ ทองคำ ทองแดง ดีบุก
                 ช่างบุ ที่เป็นช่างหลวงอยู่ในจำพวกช่างสิบหมู่มาแต่โบราณกาล คือ ช่างประเภทที่ทำการบุโลหะให้แผ่ออก เป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปหุ้มคลุมปิดเข้ากับ "หุ่น" ชนิดต่างๆ เพื่อปิดประดับทำเป็นผิวภายนอกของ "หุ่น" ที่ทำขึ้นด้วยวัตถุต่างๆ เช่น ไม้ ปูน โลหะ หิน เป็นต้น ให้เกิดความงาม มีคุณค่า และมีความคงทนถาวรอยู่ได้นานปี งานบุโลหะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ด้วยกันคือ
                         - การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเรียบ เป็นการนำเอาโลหะชนิดใดชนิดหนึ่งมาทำการตีแผ่ออกให้เป็นแผ่นแบนบางๆ ตามขนาดที่ต้องการ จึงนำเข้าปิดบุทับบนหุ่นที่ต้องการบุทำผิวให้เป็นโลหะชนิดนั้น มักบุลงบนสิ่งก่อสร้างประเภท ก่ออิฐถือปูนเป็นปูชนียสถานต่างๆ เช่น พระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ หรือพระมหาธาตุเจดีย์ พระเจดีย์ทรงปราสาท เป็นต้น งานบุโลหะด้วยโลหะแผ่นเช่นนี้ ส่วนมากยังนิยมลงรักและปิดทองคำเปลวทับลงบนแผ่นโลหะที่บุทับลงในที่นั้น อนึ่ง งานบุโลหะแผ่นผิวเรียบแล้วลงรักปิดทองคำเปลวนี้ สมัยโบราณเรียกว่า บุทองสุวรรณจังโก หรือ บุทองปะทาสี
                         - การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย   เป็นการทำแผ่นโลหะผิวเรียบๆ ให้เกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นบนผิวหน้าแผ่นโลหะนั้น โดยการใช้แผ่นโลหะทำให้เป็นลวดลายด้วยแม่พิมพ์หิน และตบด้วยถุงทรายก่อนจะนำไปบุทับลงบนหุ่นชนิดต่างๆ ที่สร้างขึ้น เพื่อรับการตกแต่งด้วยงานบุ งานบุลักษณะผิวเป็นลวดลายนี้ มักเป็นชิ้นงานในลักษณะราบ และการนำเข้าติดกับหุ่น ซึ่งมักทำด้วยไม้ จึงมักใช้หมุดตะบู่เข็มทำด้วยทองเหลืองตรึงให้แผ่นหรือชิ้นงานติดกับหุ่นนั้น
                ตัวอย่างผลงานของช่างบุในอดีต มีดังนี้
                         - งานบุประดับสถาปัตยกรรม ได้แก่ บุพระสถูปเจดีย์ บุพระพุทธปรางค์ บุเครื่องลำยองประกอบหน้าบัน บุหัวเสา
                         - งานบุประดับราชภัณฑ์ ได้แก่ ฐานพระเบญจา พระแท่นราชบัลลังก์ บุษบก พระลองประกอบพระโกศ ฝักพระแสง
                         - งานบุประดับประติมากรรม ได้แก่ บุพระพุทธรูป บุพระพิมพ์ บุปลาตะเพียนทองเงิน
               เครื่องมือและอุปกรณ์ของช่างบุ
                         1. ค้อนเหล็ก สำหรับตีแผ่โลหะ
                         2. ค้อนไม้
                         3. ค้อนเขาควาย
                         4. ทั่งเหล็ก
                         5. กะหล่อน อุปกรณ์ชนิดหนึ่งลักษณะ คล้ายทั่ง แต่หน้าเล็กและมน
                         6. เติ่งไม้ อุปกรณ์ชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ท่อน หน้าเว้าตื้นๆ
                         7. กรรไกร
                         8. สว่านโยน
                         9. ไม้เนียน ทำด้วยเขาควาย
                        10. แม่พิมพ์ ชนิดทำด้วยหิน หรือทำด้วยไม้
                        11. ถุงทราย
                        12. ชันเคี่ยว
                        13. สิ่วสลักหน้าต่างๆ
                        14. หมุด ทำด้วยโลหะผสม

จิตรกรรม การเขียนภาพไทย

งานศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ต้องอาศัยความประณีต และชำนาญอย่างมาก

ลายรดน้ำ

            ลายรดน้ำ หนึ่งในสิบของงานช่างสิบหมู่ของไทย ภาพเขียนลายทองด้วยเทคนิคการลงรักปิดทอง
ผ่านกรรมวิธีและขั้นตอนที่ปราณีต ละเอียดอ่อนต่างๆมากมาย

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

Andy Warhol


แอนดี วาฮอล (Andy Warhol)
ไม่เป็นเพียงหัวหอกของกลุ่มศิลปินพ็อพ แต่เป็นศิลปินชั้นนำระดับซูเปอร์สตาร์ของอเมริกาหรือของโลกเลยทีเดียว นอกจากจะเป็นศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยมเป็นที่ชื่นชอบแล้ว วอร์ฮอล ยังเป็นดาวสังคมของนครนิวยอร์คอีกด้วย เรียกได้ว่าทั้งชีวิตและผลงานของเขาเป็น "พ็อพ" มากๆ เลยทีเดียว ลักษณะเฉพาะตัวของ วอร์ฮอล ที่ทุกคนรู้จักดีคือ การทำงานจิตรกรรมด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน เทคนิคดังกล่าวเป็นวิธีการสร้างงานพิมพ์ในระดับอุตสาหกรรม มักจะใช้ในแวดวงโฆษณาขายสินค้า เช่น ทำโปสเตอร์ บิลบอร์ด และพิมพ์ลวดลายลงบนเสื้อยืด ในสมัยนั้นเทคนิคนี้ยังถือว่าเป็นของค่อนข้างใหม่

แอนดี้ วอร์ฮอล ใช้เทคนิคอุตสาหกรรมนี้พิมพ์ภาพดารา นักร้อง และคนดังระดับตลาดมหาชน เช่น พิมพ์ภาพ มาริลีน มอนโร อลิซาเบ็ธ เทเลอร์ และ เอลวิส เพรสลีย์ บ้างก็พิมพ์ภาพผลงานจิตรกรรมระดับคลาสสิคที่ขึ้นหิ้งของโลก เช่น ภาพ โมนา ลิซ่า (ยอดฮิตที่สุดของการถูกนำไปใช้ ถูกนำไปล้อเลียน) ภาพเทพ วีนัส ฝีมือ บอตติเซลลี ภาพทั้งหมดนี้ วอร์ฮอล นำมาพิมพ์ด้วยสีฉูดฉาดเตะตาในจำนวนเยอะๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียงกันเป็นพรืดแบบสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตซ้ำได้ทีละมากๆ


อาจารย์ศิลป พีระศรี


ร่วมรำลึกถึงการเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ ที่ชายผู้หนึ่งมีให้กับแผ่นดินไทย ที่แม้นจะมิิใช่แผ่นดินเกิดที่เขาจากมา ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ศิลป พีระศรี อาจารย์ฝรั่งของลูกศิษย์ที่ทุ่มเททุกอย่างเพื่อวงการศิลปะของไทย

รำลึกอาจารย์ศิลป พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2435 ที่ตำบลซานตายิโอวานนี่ แห่งนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี่ ซึ่งเป็นนครที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านศิลปกรรมและเป็นที่เกิดของอัจฉริยะทางด้านศิลปะของโลกอีกหลายท่าน บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะแห่งฟลอเรนซ์ สำเร็จการศึกษาเมื่อ ปี พ.ศ. 2457 ผีมือด้านงานศิลปะของท่านดีเด่นเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ศิลปิน โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ อิตาลี และท่านสอนอยู่นานจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งประเทศสยาม มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับเลือกจากรัฐบาลสยามพร้อมด้วยความสมัครใจของท่านด้วย

ท่านได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ. 2466 รับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ต่อาเมื่อ พ.ศ. 2492 ศาสตราจารย์ศิลป์ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยการให้รางวัลเกียรตินิยมเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง แก่ผู้ได้รับรางวัล ให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ ช่วยส่งเสริมศิลปินไทยให้มีกำลังใจทำงานศิลปะ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ได้เขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ แบบอย่าง และวิวัฒนาการในการสร้างสรรค์งานศิลปะอื่น ๆ อีก การวิจัยศิลปโบราณ การปั้น หล่ออนุสาวรีย์รูปบุคคล ประติมากรรม อีกมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้ ณ ที่นี้

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปะโบราณและเป็นผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยมาตลอดเป็นเวลาเกือบสี่สิบปีจวบจนท่านได้ถึงแก่กรรมในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดี ปฎิมากรรมคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเปรียบเสมือนบิดาของวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย

ผลงานทางด้านศิลปะของท่านก็เป็นสิ่งที่รู้จักและได้รับการกล่าวขานกันอยู่เสมอ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกี่ยวกับพระราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ และผลงานศิลปะอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พระปฐมบรมราชานุสรณ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงเทพฯ, พระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี กรุงเทพฯ, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) นครราชสีมา, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี, อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ธนบุรี, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ และอนุสาวรีย์อื่น ๆ อีกหลายแห่ง

พ.ศ. 2502 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สมรสกับ น.ส.มาลินี เคนนี่ ซึ่งเป็นคนไทยผู้มีส่วนช่วยเหลือท่านมากทั้งชีวิตส่วนตัวและการงานของท่าน

พ.ศ. 2505 ท่านได้ร่างโครงการหอศิลปสมัยใหม่ไว้ให้กับเมืองไทยในอนาคตและได้ถึงแก่กรรมด้วยการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506 เวลา 17.00 น.

http://www.inform.collection9.net/index.php?doc=doc_detail&id=0241 

ข้อมูลประกอบ พิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรี

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

impressionism


อิมเพรสชันนิสม์ ลัทธิประทับใจ
Impressionism
 impressionism
คริสต์ทศวรรษ 1870-1890
อิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) เป็นลัทธิศิลปะที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของกระแสความเคลื่อนไหว อิมเพรสชันนิสม์ เติบโตมาจากปัจจัยทางสังคมและพัฒนาการทางศิลปะ หลังจากการปฏิวัติในฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 ไม่กี่ทศวรรษ ในประเทศฝรั่งเศสได้เกิดชนชั้นใหม่ ที่เริ่มมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาก นั่นคือ ชนชั้นกลาง หรือ กระฎุมพี
ชนชั้นกลางต้องการศิลปะที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตอย่างที่พวกเขาเป็นอยู่ (ซึ่งแน่นอนว่าต้องแตกต่างไปจากชนชั้นสูงอย่างขุนนางและราชสำนักในอดีตที่ถูกโค่นล้มไปในการปฏิวัติ) ชนชั้นกลางเหล่านี้เติบโตขึ้นมาคู่ขนานไปกับการเติบโตของเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างนครปารีส ภาพเขียนของ อิมเพรสชันนิสม์ ได้ถ่ายทอดชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ออกมาในภาพเขียนสีน้ำมันได้อย่างมีชีวิตชีวา ทั้งชีวิตตามท้องถนน ร้านกาแฟ สนามแข่งม้า โรงละคร โรงบัลเลต์ สถานบันเทิงยามค่ำคืนอย่าง “มูแรงรูจ” สถานีรถไฟ บรรยากาศของสวนสาธารณะในวันสุดสัปดาห์
นอกจากนั้นจิตรกรในกลุ่มลัทธินี้ ยังนิยมเขียนภาพทิวทัศน์ในธรรมชาติอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทุ่งนา ชายทะเล โขดหินชายฝั่ง ป่าไม้ บึงบัว และแม่น้ำ ภาพของพวกเขาจะแสดงให้เห็นถึงโลก ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีปัญหา เป็นโลกที่มีแต่ความเบิกบาน ราวกับสวนสวรรค์อีเดน หรือ อาคาเดีย (Arcardia คือ ตำบลแห่งหนึ่งในกรีซ ในโบราณถือว่าเป็นที่ๆสำราญที่สุด คำนี้สามารถนำไปใช้เรียกสถานที่ใดก็ตาม ที่คนมีความสุขสำราญ เป็นดั่งแดนสุขาวดี)
ศิลปินที่เป็นชนชั้นกลางมิได้หมายเพียงพวกจิตรกรหัวเก่าแต่รวมไปถึงจิตรกรหัวก้าวหน้าอย่าง เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas, 1834?1917) ปีแยร์ อองกุสต์ เรอนัวร์, Pierre-Auguste Renoir, 1841?1919) โคลด โมเนต์ (Claude Monet, 1840?1926) นิทรรศการแรกของกลุ่มจิตรกรลัทธินี้ มีขึ้นเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ปี 1874) รูปแบบการเขียนภาพที่เด่นที่สุดของจิตรกรกลุ่มนี้คือ การเขียนภาพถ่ายทอด “สี” ของ “แสง” (ซึ่งเพิ่งค้นพบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ว่าใน “แสง” มีสีทั้งหมด 7 สี) และศิลปินเหล่านี้ยังนิยมเขียนภาพด้วยฝีแปรงที่ฉับพลัน ไม่นิยมการระบายแบบเกลี่ยสีให้กลมกลืนเรียบร้อยเป็นเนื้อเดียวกันตามจารีตการเขียนภาพเหมือนจริงแบบโบราณ
การเขียนที่ฉับพลัน ฝีแปรงที่ค่อนข้างหยาบและภาพเขียนขนาดไม่ใหญ่โตเกินกว่าจะพกพาไปเขียนนอกสถานที่ คือ ปัจจัยที่ประกอบกันอย่างเหมาะสมสำหรับอุดมการณ์ของกลุ่มลัทธิ อิมเพรสชันนิสม์ ที่ต้องการถ่ายทอดบรรยากาศของสีและแสงที่พวกเขาเห็นในห้วงเวลาขณะหนึ่งลงบนผ้าใบ

Pop Art สิลปะสุดแนว


สำหรับผู้ที่ชอบอ่านหรือแม้กระทั่งผ่านตางานศิลปะหรือหนังสือที่เขียนถึงงานศิลปะ ในยุคนี้มักจะได้ยินคำว่า ป๊อปอาร์ต (Pop Art) และนับวันศิลปะแขนงนี้ก็ทำท่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยความเป็นกบถของรูปแบบแห่งการสร้างสรรค์ ที่ป๊อป อาร์ต แหกกฎกรอบการสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้นไปอีก

    ไปดูที่มาที่ไปสักนิดก่อนครับ ป๊อป อาร์ต เป็นปรากฎการณ์ของศิลปที่เกิดขึ้นในราวช่วงกลางทศวรรศ 50 เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ และลามไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ซึ่งในขณะนั้นอีตานักวิจารณ์ศิลปที่ชื่อ Lawrence Alloway แกกล่าวไว้ว่า Pop Art คือปรากฎการ์ณด้านศิลปที่สำคัญในศตวรรษที่ 20 มีลักษณะพิเศษด้วยเรื่องราว และเทคนิคในการนำเสนออันเกิดขึ้นจาก    วัฒณธรรมการผลิตแบบอุตสาหกรรม  เช่นหนัง หรือภาพโฆษณา หนังสือการ์ตูน เพราะตัว pop art เองไม่ค่อยจำกัดเทคนิคในการนำเสนอดังศิลปแขนงอื่นนัก ที่มักจะใช้วิธีระบายสีบนผืนผ้าใบเท่านั้น


    ป๊อบ อาร์ต ถูกใช้เรียกศิลปะที่สร้างขึ้นจากสิ่งสัพเพเหระของชีวิตประจำวัน เป็นศิลปะที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมป๊อป (ป๊อพปูลาร์ คัลเจอร์) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมระดับมหาชน ที่ถูกจัดว่าเป็นวัฒนธรรมหรือศิลปะระดับล่าง โดยมีศิลปะชั้นสูงเป็นขั้วตรงกันข้าม ป๊อพ อาร์ต คือแนวศิลปะที่เป็นปฏิกริยาโต้ตอบกับศิลปะลัทธิ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ซึ่งเน้นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก การแสดงความเป็นส่วนตัว มีแนวงานเป็นของตัวเองและเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ แต่ พ็อพ อาร์ต กลับหยิบยืมเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด เช่น วัสดุสำเร็จรูป มานำเสนออย่างมีชีวิตชีวา

    แต่ถ้าถามไอน์สไตน์น้อย ไอน์สไตน์น้อยคิดว่า เอกลักษณ์ของป๊อป อาร์ต น่าจะอยู่ที่สีที่ฉูดฉาด กับคอนเซ็ปต์การสื่อนัยยะของงานศิลปะนั้นๆ ในรูปของการล้อเล่น ประชดประชัด เสียดเย้ย ไปจนกระทั่งถางถางเลยนะครับ

undefined
  

หลายคนเชื่อว่า คำว่า "Pop Art" หรือที่มีคนถอดความเป็นภาษาไทยเอาไว้ว่า "ศิลปะประชานิยม" โดยเชื่อว่า Pop ตัวนี้ มาจาก ป๊อปปูล่า (Popular) แต่ว่าก็มีบางกระแสที่เชื่อว่า มาจาก ริชาร์ด แฮมิลตัน เป็นผู้บุกเบิกป๊อป อาร์ตร่วมสมัยชาวอังกฤษ ภาพที่มีชื่อเสียงคือภาพนักกล้ามถือขนมหวาน (pop) จึงมีคนเชื่อว่า pop art น่าจะเป็นชื่อมีที่มาจากภาพนี้ครับ

ติดตามชมสาระน่ารู้อันหลากหลายและน่าสนใจมากในเวอร์ชั่นภาพเคลื่อนไหวแบบเต็มๆ และจุใจ ผ่านทางรายการ Knowledge Gang ทางช่องทรูวิชั่น 67   รับรองทั้งมันส์ทั้งได้ความรู้...อย่าลืมติดตามกันนะครับ

ขรัวอินโข่ง


ขรัวอินโข่ง มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3-4 (ไม่ปรากฏวันเดือนปีเกิด) ศิลปินผู้ได้รับการยกย่องเป็นจิตรกรเอกประจำรัชกาลที่ 4 แห่งสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นศิลปินในสมณเพศ ศิลปินไทยคนแรกที่ใช้เทคนิคการเขียนภาพฝาผนังแบบตะวันตกที่แสดงปริมาตรใกล้ไกล นับเป็นศิลปินก้าวหน้าแห่งยุคที่ผสมผสานแนวดำเนินชีวิตแบบไทยกับตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกย่องว่า ขรัวอินโข่งเป็นช่างเขียนไม่มีตัวสู้ในสมัยนั้น
ในระยะแรกขรัวอินโข่งยังยึดแนวความคิดแบบเดิม คือวาด ภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนาตามคตินิยม ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นเขียนภาพเรื่องราวเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งหลุดพ้นมาเป็นงานในรูปแบบปริศนาธรรม ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวคือการ วาดภาพธรรมชาติโดยเฉพาะต้นไม้และการควบคุมอารมณ์ของสีในภาพให้มีความกลมกลืนและ เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอด ผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือภาพปริศนาธรรมที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส


วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

อลังการ"พระเมรุ"งดงามราวสรวงสวรรค์รายล้อมด้วยสัตว์ป่าหิมพานต์ประดับเพชรระยิบ


เมื่อวันที่ 4 เมษายน นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร พาคณะสื่อมวลชนในเครือมติชน เข้าเยี่ยมชมพระเมรุ  ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเมรุเพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  ภายหลังจากที่มีพระราชพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุเมื่อวันที่ 3 เมษายน และพร้อมที่จะใช้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 9 เมษายน 2555  ภายหลังจากที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  รับผิดชอบออกแบบ และก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ


นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร อธิบายถึงการออกแบบพระเมรุตามคติไตรภูมิ มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางมณฑลจักรวาลบนยอดพระสุเมรุคือสรวงสวรรค์ทิพยวิมานที่สถิตย์ของเทพยดา เขาพระสุเมรุรายล้อมด้วยสัตตบริภัณฑ์ ที่เชิงเขา พระสุเมรุคือป่าหิมพานต์มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์คือสระอโนดาต ที่อยู่ของสัตว์ในจินตนาการนานาชนิด

ฝีมือปูนปั้นโดยช่างผู้ชำนาญงานปั้นปูนสด (ช่างสมชาย บุญประเสริฐ เป็นหัวหน้าคณะ แบ่งงานให้ช่างปั้นจากจังหวัดเพชรบุรีและสุพรรณบุรี  ทั้งหมด 24  คน เป็นผู้ออกแบบและปั้นสัตว์หิมพานต์นานาชนิด  มีสวนนงนุช จังหวัดชลบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ ต้นไม้ประดับโดยรอบบริเวณพระเมรุและอาคารประกอบทั้งหมด


" กรมศิลปากรใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 81 วัน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบและกำกับดูแลการก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบพระเมรุในครั้งนี้ โดยออกแบบพระเมรุเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงมณฑปแปลง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รูปแบบพระเมรุแล้ว กรมศิลปากร โดยสำนักสถาปัตยกรรม ได้ดำเนินการเขียนแบบ ขยายแบบพระเมรุและอาคารประกอบ ตามขั้นตอนงานช่างอย่างไทย"

 

อธิบดีกรม ศิลปากรกล่าวเพิ่มเติมว่า สีที่ใช้ประดับตกแต่งเป็นสีประจำวันเกิดของ  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ  ในวันอังคาร คือ สีชมพู และเลือกเฉดสีที่ทรงโปรดคือสีส้มมาประดับตกแต่ง และเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นสตรีการเลือกสีและการตกแต่งจึงงดงดงามและอ่อนหวาน  ทั้งภายในและภายนอกมีการตกแต่งด้วยเหลี่ยมเพชร  ขณะที่ฉากบังเพลิงภายนอกเป็นรูปเทวดาทั้ง 4 ทิศ ด้านในวาดเป็นดอกกุหลาบซึ่งเป็นดอกไม้ทรงโปรด ในความหมายที่ว่ากลิ่นกุหลาบจะอบอวลไปตลอดเส้นทางเสด็จสู่สวรรคาลัยและตามเสด็จไปถึงทิพยพิมานด้วย


งานปูนปั้น สกุลช่างเมืองเพชร


งานปูนปั้น นับเป็นงานช่างสาขาหนึ่งของเพชรบุรีที่สืบทอดต่อกันมานาน เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่นิยมกันมาแต่โบราณ มีทั้งงานปั้นองค์พระพุทธรูปและปั้นประดับตกแต่งอาคารสิ่งก่อสร้างทาง สถาปัตยกรรมหน้าบัน อุโบสถ วิหาร ฐานพระพุทธรูป ฐานเจดีย์ ลายที่ปั้นมักเป็นลายไทยที่มีความวิจิตรพิสดารผสมผสานกันอยู่กันรูปปั้นพุทธ ประวัติ ประกอบด้วย เทพ เทวดา สัตว์หิมพานต์ และสัตว์ในวรรณคดี ใน อดีตการปั้นจะใช้ปูนซึ่งทำมาจากเปลือกหอยเผาไฟที่นำไปตำจนละเอียดผสมกับน้ำ อ้อย กระดา หนังหรือเขาสัตว์เผาไฟ แล้วนำไปตำรวมกัน ทำให้ได้ปูนที่มีความเหนียวสามารถปั้นเป็นรูปต่างๆได้ง่าย และเมื่อแห้งแล้ว จะแข็งตัวและทนแดด ทนฝนได้ดี เรียกว่า ปูนเพชร ปัจจุบัน ช่างปั้นจะใช้ปูนขาวสำหรับปั้น ที่มีขายในท้องตลาดไปตำรวมกับกระดา กาวหนังสัตว์ ทรายละเอียดและน้ำเพื่อให้ได้ปูนที่มีความเหนียวพอดีเหมาะสำหรับงานปั้น งาน ปูนปั้นตามรูปแบบของจังหวัดเพชรบุรี นิยมทำร่วมกับงานลงรักปิดทองและประดับกระจก เมื่อดูแล้วจะแข็งแรง ทนทานไม่หดตัวง่าย แพรวพราวมีลายเด่น ช่วยเสริมให้งานประกอบปูนปั้นเด่นยิ่งขึ้น เช่น ฐานพระ เป็นต้นงานปูนปั้นที่มีความโดเด่นสวยงามในเมืองเพชรมีหลายแห่ง ประดับอยู่ตามอาคารและสิ่งปลูกสร้างมีมากตามวัดทั่วไป อาทิ งานปูนปั้นหน้าบันพระวิหารหลวง พระปรางค์ และงานปูนปั้นโดยทั่วไปของศาลาวัดมหาธาตุวรวิหาร ผลงานของช่างเมืองเพชรหลายท่าน เช่นนายพิณ อินฟ้าแสง นายทองร่วง เอมโอษฐ นายเฉลิม พึ่งแตง นายสมพล พลายแก้ว หน้าบันวิหารพระคันธารราฐ วัดพลับพลาชัย ฝีมือของนายพิณอินฟ้าแสง หน้าบันและซุ้มประตูอุโบสถวัดปากคลอง ฝีมือ นายแป๋ว บำรุงพุทธ เป็นต้น ส่วนงานปูนปั้นฝีมือช่างสมัยอยุธยามีปรากกอยู่หลายแห่ง เช่น วัดไผ่ล้อม วัดสระบัว วัดเกาะ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร วัดบันไดอิฐ เป็นต้น
ในการที่จะสร้างงานประติมากรรมปูนปั้นให้ได้ดีนั้นต้องมีความมุ่งมั่นขยันพาก เพียรในการปฏิบัติ เพราะเมื่อเริ่มปฏิบัติในช่วงแรกจะมีความรู้สึกยาก แต่พอปฏิบัติผ่านไปเรื่อยๆจะเริ่มเข้ามือมีทักษะในการปั้นขึ้นและสนุกกับการ ปั้น เปรียบเสมือนการฝึกขับรถใหม่ๆ จะดูสับสนไปหมด เพราะต้องใช้ทุกส่วนของร่างกายแต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเกิดทักษะในการ ปฏิบัติงานขึ้น การปั้นรูปนอกจากจะฝึกฝนให้เกิดความชำนาญแล้วยังส่งผลประโยชน์ทั้งทางร่าง กายและจิตใจ บางคนฝึกสมาธิโดยการปั้นรูปเพราะจะทำให้สมาธินิ่งขึ้นหรือการนวดปูน การขึ้นรูปปูนเป็นการใช้แรงออกกำลังกายอย่างหนึ่งทำให้สุขภาพแข็งแรงดีเลือดลมสูบฉีด สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากในกระบวนการปั้นนั้นจะต้องวาดเส้น ( Drawing ) ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่กับงานปั้น ประติมากรที่เก่งนั้นจะวาดเส้นดีทุกคนเพราะพื้นฐานสำคัญในการปั้นรูปให้ได้ดี
ปราณีตศิลป์ประเภทงานปูนปั้น
ประณีตศิลป์ประเภทต่อไปนี้ เป็นไปในลักษณะงานปั้นโดยอาศัยปูนโขลกปูนตำเป็นวัสดุสำคัญ ปั้นทำลวดลายประดับสำหรับตกแต่งติดกับวัตถุสถานต่าง ๆ เช่นพื้นหน้าบันกรอบซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง เป็นต้น ประณีตศิลป์ประเภทงานปูนปั้น มิใช่ประณีตศิลป์ที่เพิ่งจะมาเกิดมีขึ้นเป็นคราวแรกใน รัชกาลที่ 3 งานปูนปั้นที่จัดเป็นประณีตศิลป์ได้มีอยู่แล้วและทำสืบกันลงมาแต่โบราณ ส่วนงานปูนปั้นซึ่งได้ทำขึ้นระหว่างรัชกาลที่ 3 นั้น มีสาระสำคัญอันเนื่องมาแต่พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เป็นการใหม่ ๆ ต่างกว่าขนบนิยมของงานปูนปั้น อันเคยถือปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ซึ่งจะได้อธิบายเรื่องนี้โดยเฉพาะต่อไปข้างหน้า งานปูนปั้นที่ได้ทำขึ้นสำหรับตกแต่งวัตถุสถานต่าง ๆ เมื่อรัชกาลที่ 3 นั้น สังเกตได้ว่าใช้ปูนตำ 2 ชนิดด้วยกันคือปูนผสมน้ำกาวชนิด 1 กับปูนผสมน้ำมันอีกชนิด 1 คุณสมบัติของปูนตำทั้ง 2 ชนิดนี้ มีความคงทนเสมอกัน แต่ จะต่างกันที่ปูนผสมน้ำมันนั้นมีสิ่งมาร่วมผสมทำให้เนื้อปูนละเอียดกว่าปูน ผสมน้ำกาวปูนตำชนิดนี้จึงมักใช้ปั้นสิ่งที่ต้องการแสดงส่วนละเอียดให้ได้มาก ชัดเจน และวิจิตรประณีต ส่วนปูผสมน้ำกาวเนื้อปูนติดจะหยาบจึงใช้ปั้นแต่ของใหญ่ ๆ ไม่สู้ต้องการแสดงส่วนละเอียดมากนัก งานปูนปั้นที่เป็นการเนื่องด้วยพระราชดำริขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้ มีสาระสำคัญในด้านความคิดและรูปแบบซึ่งจะเห็นได้ในงานปูนปั้นต่าง ๆ ต่อไปนี้
งานช่างปั้นปูนสด
ศิลปะ ปูนปั้น เป็นเทคนิคการประดับตกแต่ง ที่ช่างไทย นิยมนำ มาใช้ในการตกแต่งลวดลายบนงานสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้าง ด้วยอิฐ หรือ ศิลาแลง มีปรากฏตั้งแต่สมัยทวารวดี และยังคงเป็นที่ นิยมสืบต่อกันมาทุก ยุคสมัย ดังจะพบเห็นได้ตามโบราณสถานโดย ทั่วไป ลวดลายเครื่องสถาปัตยกรรมที่ทำจากปูนปั้น มีทั้งที่เป็นรูป บุคคล รูปสัตว์ ลวดลายพันธุ์พฤกษา เป็นภาพเล่าเรื่องและอื่นๆ อีกมาก มีทั้งที่ทำเป็นภาพนูนสูง นูนต่ำ หรือทำเป็นประติมากรรมลอย ตัวทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคตินิยมและฝีมือช่าง
การ ปั้นปูนแบ่งออกเป็น ๒ วิธีใหญ่ๆ คือ การปั้นสด หรือ การปั้นที่ขึ้นรูปด้วยมือโดยตรง และการอัดปูนลงในแม่พิมพ์เป็นรูปลาย และยังมีการตกแต่งผิวของปูนปั้น เพื่อความสวยงามด้วยวิธีลงรักปิด ทอง ลงรักประดับกระจก หรือลงสีเขียนระบายด้วยก็ได้ลวด ลายปูนปั้นที่ประดับโบราณสถาน รวมทั้งเทคนิคในการทำแต่ละยุคสมัย จะมีรายละเอียดในรูปแบบ สามารถใช้ กำหนดอายุโบราณสถาน ที่มีลวดลายปูนนั้นๆ ประดับอยู่ได้ ลายปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามโบราณสถานโดยทั่วไป มักอยู่ ในสภาพชำรุด เพราะภูมิอากาศ ความชื้น และฝนทำให้หักพังและหลุดร่วงได้ง่าย
ศิลปะ ปูนปั้นของไทย ที่นิยมปั้นตกแต่งอาคารพุทธสถาน ปราสาทราชวังมาแต่เดิมนี้ มีชื่อเรียกที่บ่งบอก ลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้  
ปูนปั้น เรียกตามลักษณะการปฏิบัติงาน คือ การนำมาปั้นงานศิลปกรรม
ปูนโบราณ เรียกตามการจัดยุคสมัย
ปูนตำ เรียกตามลักษณะขบวนการสร้างเนื้อวัสดุสำหรับใช้งาน
ปั้นปูนสด ปูนสด เรียกตามลักษณะสภาพเนื้อวัสดุที่เป็นอยู่ในขณะนำไปใช้ซึ่งมีความหมายใกล้ เคียงกับ ชื่อขบวนการในการปฏิบัติงานประติมากรรมสากลอย่างหนึ่ง คือ ขบวนการปั้นสดด้วยปูนปลาสเตอร์
ปูนงบน้ำอ้อย ปูนน้ำอ้อย ปูนน้ำมัน ปูนน้ำมันทั่งอิ้ว เรียกตามส่วนผสมที่มีอยู่ในเนื้อวัสดุ
ปูนไทย ปูนจีน ปูนฝรั่ง เรียกตามวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาในทางช่าง
ปูนเพชร เรียกตามคุณสมบัติที่แข็งแกร่งของเนื้อปูน เนื่องจากเมื่อแห้งและแข็งตัวแล้วจะแข็งแกร่งมาก ประดุจเพชร ปูนปั้นนี้มีมาแต่โบราณมีอยู่ทั่วทุกภาคทุกพื้นที่ของอาณาจักรสยาม เมื่อมีวัฒนธรรมตะวันตก เข้ามาในสมัย รัตนโกสินทร์มีการนำเทคนิค และวัสดุใช้งานแบบใหม่เข้ามา คือ ปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ขบวนการช่างไทย ของเดิมถูกทอดทิ้งไป แต่ด้วยความรักและหวงแหนในวิชาช่างปั้นปูนสด ของสกุลช่างเมืองเพชรบุรี แห่งจังหวัดเพชรบุรี และอีกหลายแหล่งในภาคอื่นๆ เช่น ช่างปั้นทางภาคเหนือ จึงสามารถอนุรักษ์ไว้ได้ ฝีมือช่างปั้นช่างเพชรบุรีเป็นที่ติดตา ต้องใจของผู้คนเป็นพิเศษ จนอาจเข้าใจว่าปูนเพชรแปลว่าปูนของช่างเมืองเพชรบุรีไป
ปูนหมัก เรียกตามขบวนการผลิตเนื้อปูนที่ต้องหมักไว้ก่อนใช้งาน
 ในการที่จะสร้างงานประติมากรรมปูนปั้นให้ได้ดีนั้นต้อง มีความมุ่งมั่นขยันพากเพียรในการปฏิบัติ เพราะเมื่อเริ่มปฏิบัติในช่วงแรกจะมีความรู้สึกยาก แต่พอปฏิบัติผ่านไปเรื่อยๆจะเริ่มเข้ามือมีทักษะในการปั้นขึ้นและสนุกกับการ ปั้น เปรียบเสมือนการฝึกขับรถใหม่ๆ จะดูสับสนไปหมด เพราะต้องใช้ทุกส่วนของร่างกายแต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเกิดทักษะในการ ปฏิบัติงานขึ้น การปั้นรูปนอกจากจะฝึกฝนให้เกิดความชำนาญแล้วยังส่งผลประโยชน์ทั้งทางร่าง กายและจิตใจ บางคนฝึกสมาธิโดยการปั้นรูปเพราะจะทำให้สมาธินิ่งขึ้นหรือการนวดปูน การขึ้นรูปปูนเป็นการใช้แรงออกกำลังกายอย่างหนึ่งทำให้สุขภาพแข็งแรงดีเลือด ลมสูบฉีด สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากในกระบวนการปั้นนั้นจะต้องวาดเส้น ( Drawing ) ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่กับงานปั้น ประติมากรที่เก่งนั้นจะวาดเส้นดีทุกคนเพราะพื้นฐานสำคัญในการปั้นรูปให้ได้ ดี
ภาพถ่าย โดยช่างภาพสมัครเล่นอิสระ คุณเกรียงไกร รักมิตร

http://research.pbru.ac.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=252&Itemid=179

งานช่างประดับกระจก


งานช่างประดับกระจก หรือ บางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก เป็นงานช่างรัก ประเภทหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังได้รับการจัดให้เป็นประณีตศิลป หรือ มัณฑนศิลปอีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยงานช่างประดับกระจก เป็น งานตกแต่งสิ่งอุปโภค หรือ ครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความงามเพิ่มเติมสมบูรณ์ขึ้น ด้วยศิลปลักษณะบนผิวภายนอกของสิ่งนั้นๆ โดยการประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ผิวมันวาว ซึ่งได้รับการตัดแบ่ง และแต่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ติดต่อกันเป็นลวดลาย เป็นลายหลากหลายแบบด้วยกันขึ้นบนศิลปภัณฑ์นั้นๆ
งานช่างประดับกระจกก็ดี ความนิยมต่องานประดับกระจกก็ดี เนื่องมาแต่สาระซึ่งผู้คนแต่ก่อน เห็นความ สำคัญในคุณลักษณะของกระจก ที่เป็นทั้งสี และมีความมันแวววาว กับยังเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเปล่งประกายออกได้ คล้ายกับอัญมณี เมื่ได้รับแสงสว่างส่องมากระทบผิวกระจกนั้น กระจกสีจึงได้รับการนำมาประดับลงในบางสิ่ง ที่พึ่งประดับด้วยอัญมณีจริง หรือ ประดับเป็นอย่างของเทียมแทนจะใช้อัญมณี นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่มีคุณภาพแข็ง คงทนถาวรต่อแดด ฝน เป็นเครื่องช่วยป้องกัน มิให้วัตถุที่กระจกปิดทับเสื่อมสลายง่าย จึงเป็นเหตุให้เกิดมีงานเครื่องประดับกระจก และกระบวนการช่างประดับกระจก เป็นขนบนิยมขึ้นในแวดวงช่างสิบหมู่ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
งานช่างประดับกระจก หรือ บางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก
รูปภาพ งานช่างประดับกระจก หรือ บางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก เป็นรูปกบี่แบกฐานเจดีย์ (สมัยรัตนโกสินทร์)ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร 
วัตถุที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานประดับกระจก คือ กระจก หรือ แก้วที่ทำเป็นแผ่นบางๆ ใช้กันมาแต่โบราณ มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน ดังนี้
  1. ๑. กระจกแก้ว ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ รูปร่างสี่เหลี่ยม มีสีต่างๆ กระจกแต่ละแผ่นฉาบด้านหลังด้วยแผ่นบางๆ ของโลหะเงิน หรือโลหะเจือปรอท ผิวหน้าเป็นมันวาว เนื้อกระจกแข็ง
  2. ๒. กระจกเกรียบ ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีต่างๆ ด้านหลังเป็นดีบุก ด้านหน้าผิวมัน กระจกชนิดนี้เนื้ออ่อน อาจตัดแบ่งเป็นชิ้นได้ด้วยกรรไกร กระจกเกรียบนี้ในบางแห่งเรียกว่า แก้วชื่น แก้วจืน หรือ แก้วพุก่ำ

วัสดุใช้สำหรับงานช่างประดับกระจก

  • รักน้ำเกลี้ยง
  • สมุก ผงถ่านใบตองแห้ง
  • ชันผง
  • น้ำมันยาง
  • ปูนขาว

เครื่องมืองานช่างประดับกระจก

  • เพชรตัดกระจก ด้ามทำด้วยทองเหลือง ลักษณะคล้ายรูปดาบ ยาวประมาณ ๖ นิ้ว ตอนปลายค่อนข้างแบน ติดเศษเพชรยื่นออกมาเล็กน้อย เรียกว่า เพชรเขี้ยวงู
  • ไม้ตับคีบกระจก ทำด้วยไม้ไผ่ สำหรับคีบจับแผ่นกระจกได้มั่น และ ตัดกระจกสะดวกดี
  • ไม้กะขนาด สำหรับกะขนาดกระจกที่จะแบ่งตัด
  • ไม้ติดขี้ผึ้งติดกระจก ใช้ติดชิ้นกระจกนำไปปิดลงบนพื้นที่จะประดับกระจก
  • เกรียงทาเทือก ใบเกรียงทำด้วยเหล็ก รูปร่างคล้ายช้อน ใบเรียวรี ปลายแหลม ต่อด้ามทำด้วยไม้
  • กรรไกรจีน ใช้สำหรับตัดแต่ง เล็บมุม หรือขอบที่ต้องการตัดกระจกเป็นรูปกลมๆ
  • กระดานผสมสมุก ทำด้วยไม้แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามสำหรับมือจับอยู่ในตัว
  • ไม้ซาง ใช้สำหรับกวดผิวหน้ากระจก