วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

จิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศวิหาร


  วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ผ่านความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก วัดบวรมีความสำคัญหลายด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่งคือจิตรกรรมฝาผนัง
               คำว่า “จิตรกรรม” พจนานุกรมศัพท์ศิลปะได้ให้คำนิยามไว้ว่า จิตรกรรมหมายถึงภาพที่แต่ละบุคคลสร้างขึ้น ด้วยประสบการณ์ทางสุนทรียภาพและความชำนาญ โดยใช้สีชนิดต่างๆ เช่นสีน้ำ สีน้ำมัน สีฝุ่น เป็นสื่อกลางในการแสดงออกถึงเจตนาในการสร้างสรรค์ การสร้างงานจิตรกรรม จะสร้างงานบนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ (ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย,กรุงเทพ ฯ : เพื่อนพิมพ์,2530, หน้า 134)
               จิตรกรรมไทยเป็นวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง  ซึ่งมักแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่  วัฒนธรรมการแต่งกาย การแสดงการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ และสาระอื่นๆ ของแต่ละยุคให้ปรากฏ ซึ่งนอกจากจะส่งผลสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติแล้ว ยังมีคุณค่าทางศิลป์ที่ช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษย์ได้ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆได้เป็นอย่างดี  (ประเสริฐ  ศีลรัตนา, สุนทรียะทางทัศนศิลป์,กรุงเทพ ฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2542,หน้า  119)
             จิตรกรรมฝาผนัง เป็นศิลปะที่มีค่ายิ่งประเภทหนึ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งนิยมเขียนกันตามผนังภายพระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป พระปรางค์ พระระเบียง พระสถูปเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และปราสาท พระราชวัง ตลอดจนผนังถ้ำ และเผิงผา ซึ่งเรียกว่า จิตรกรรมฝาผนัง (Mural Painting)
ความมุ่งหมายในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง            ความหมายและมูลเหตุในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น เกิดจากแนวความคิดที่ว่า เมื่อมีกิจพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ฝาผนังเหล่านั้นมักจะได้รับการตกแต่งโดยมีผ้าปิดทับ ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงเป็นที่มาของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
            ลักษณะของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยสมัยโบราณ ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาดก เรื่องพระพุทธประวัติ ที่ล้วนเกี่ยวพันกับรพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนเรื่องวรรณคดีนั้น มีอยู่น้อย
            การเขียนภาพในพระอุโบสถหรือวิหาร นอกจากจะเขียนขึ้นเพื่อประดับตกแต่งแล้ว จิตรกรหรือผู้ที่ให้เขียนภาพนั้น ต้องการจะให้ภาพที่เขียนเป็นเครื่องโน้มน้าวจิตใจของผู้ชม ให้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้ประกอบแต่คุณงามความดี จิตรกรเองจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากภาพเขียนเหล่านั้น
ลักษณะของภาพจิตรกรรมของไทย            ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของไทย มีลักษณะเฉพาะของไทยเอง ซึ่งไม่เหมือนกับของประเทศในเอเซียอาคเนย์ หรือประเทศใด ๆ เลย จิตรกรรมฝาผนังจะเป็นลักษณะแบนราบ ไม่มีส่วนลึกของภาพที่เราเรียกว่า “Perpective” เช่น ภาพที่อยู่ไกลจะมีลักษณะที่เล็กกว่า ภาพเขียนจึงมีเพียง 2 ลักษณะ คือ กว้างและยาวเท่านั้นเอง แต่เป็นภาพเขียนที่จิตรกรได้พยายามใช้ความสามารถที่จะเขียนให้รู้ว่าบุคคลไหนเป็นตัวเอกของเรื่อง นอกจากนั้นภาพเขียนยังแสดงออกหรือสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น ๆ
คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง            คุณค่าของภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่จะศึกษาหาความรู้จากภาพเหล่านั้น การศึกษาอาจแบ่งได้หลายแง่หลายมุม อาทิ การศึกษาถึงศิลปความงาม สภาพความเป็นอยู่ การสร้างบ้านแปลงเรือน ชีวิตของสังคมประจำวันของกษัตริย์ของคนในราชสำนักรวมไปถึงบุคคลธรรมดา ตลอดจนจารีตประเพณีของคนในสมัยโบราณ ฯลฯ ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยที่ตนยังมีชีวิตอยู่ จิตรกรเองใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายชีวิตทุกแง่ทุกมุม ตลอดจนภาพธรรมชาติแวดล้อมลงไปในภาพจิตรกรรมนั้นด้วย
ลักษณะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง            ลักษณะในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยในสมัยโบราณ มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
            1. การเขียนแบบสีฝุ่น (Tempera) ซึ่งมีวิธีการที่ซับซ้อนมาก ผนังที่ใช้เขียนจะต้องไม่มีความเค็มของปูน ในสมัยโบราณใช้ใบขี้เหล็กตำ ผสมน้ำราด จนกว่าจะหมดความเค็มของปูน ซึ่งจะทราบได้โดยการใช้ขมิ้นทา ถ้าขมิ้นเป็นสีแดงอยู่ ก็ต้องใช้น้ำใบขี้เหล็กราดต่อไป เมื่อผนังหมดความเค็มก็ต้องรอให้ผนังนั้นแห้งสนิท จึงจะลงมือเขียนภาพได้
            2. วิธีเขียนแบบปูนเปียก (Fresco) การเขียนแบบปูนเปียกนี้ คือ การเขียนภาพลงบนปูนที่ยังไม่แห้ง ซึ่งจะทำให้สีอยู่ทนถาวร ซึ่งชาวไทยรู้จักการเขียนภาพแบบนี้มาจากชาวจีน
            การเขียนภาพแบบนี้ คนไทยในสมัยโบราณไม่นิยม เพราะลักษณะภาพเขียนหรือจิตรกรรมฝาผนังของไทยต้องใช้ความประณีตมากและต้องใช้เวลา จึงไม่เหมาะกับการเขียนแบบนี้ การเขียนภาพบนปูนเปียกเหมาะที่จะเขียนภาพขนาดใหญ่ รายละเอียดน้อย
            การใช้สีในสมัยโบราณคนไทยรู้จักการทำสีขึ้นใช้เอง โดยได้มาจากธรรมชาติ เช่น รากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ และดิน
ยุคสมัยของจิตรกรรมฝาผนัง
            จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นโดยจิตรกรในประเทศไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์  การเขียนจิตรกรรมมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด จากความเรียบง่ายมาเป็นความสลับซับซ้อนของภาพ ซึ่งต้องอาศัยฝีมือของจิตรกรอย่างมาก
  จิตรกรรมที่ปรากฏในวัดต่างๆมีหลายประเภทเช่นเรื่องราวจากชาดก พุทธประวัติ  พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา วิถีชีวิต ไตรภูมิ และวัฒนธรรมประ
เพณี  จะเขียนไว้ตามฝาผนังพระอุโบสถ พระวิหาร หรือภายในองค์พระเจดีย์เป็นต้น  มีลักษณะพิเศษในการจัดวางภาพแบบเล่าเรื่องเป็นตอนๆตามผนังช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถและวิหาร ผนังด้านหน้าพระประธานส่วนใหญ่นิยมเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญและผนังด้านหลังพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และบางแห่งเขียนภาพไตรภูมิ(ประเสริฐ  ศีลรัตนา, สุนทรียะทางทัศนศิลป์, กรุงเทพ  ฯ :สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2542,หน้า 120)
               พระมหาอำพลได้สรุปงานจิตรกรรมไว้ว่า “จิตรกรรมฝาผนังที่จิตรกรไทยในสมัยโบราณได้สร้างสรรค์ไว้ตามผนังโบสถ์และวิหารของวัดต่างๆในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนาเช่นเรื่องราวพุทธประวัติ ประวัติพระสาวกไตรภูมิกถา บาลีชาดก ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่าในทางพระพุทธศาสนา และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้จิตรกรไทยใช้สร้างงานจิตรกรรมฝาผนังไว้ตามวัดต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (พระมหาอำพล   บุดดาสาร,การศึกษาวิเคราะห์พุทธปรัชญาและพุทธศิลป์จากภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องบาลีชาดกวัดเครือวัลย์วรวิหาร,วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาพุทธศาสนศึกษา  คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546)    
               จิตรกรรมไทยในปัจจุบันมีหลายรูปแบบเช่นจิตรกรรมไทยประเพณี มีลักษณะเป็นแบบอุดมคติ คุณค่าอยู่ที่รูปแบบอันได้สัดส่วนสวยงาม อาภรณ์อันวิจิตร  การตัดเส้นที่ละเอียดประณีต มีการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมีระเบียบแบบแผน ซึ่งเกิดจากความพากเพียรและพลังแห่งความบันดาลใจ มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา นิยมวาดบนฝาผนังโบสถ์ วิหาร ศาลา และสมุดข่อย สร้างขึ้นเพื่อสื่อความหมายเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ความเชื่อ (มัย  ตติยะ,สุนทรียภาพทางทัศนศิลป, กรุงเทพฯ:วาดศิลป์,2547, หน้า199)
การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยในสมัยต่างๆ
สมัยสุโขทัย:รุ่งอรุณแห่งความสุข
               คำว่า “สุโขทัย” แปลว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” หมายถึง เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตไทยที่เปี่ยมสุข เนื่องจากสุโขทัยเป็นราชธานีของไทยแห่งแรกในยุคประวัติศาสตร์ไทย มีการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ที่มีความร่มเย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ดังคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว “ จึงนับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมส่วนรวมได้
               งานจิตรกรรมในสมัยสุโขทัยที่ปรากฏหลักฐานตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน น้อยกว่างานประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ที่มีผลงานหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ภาพแกะสลักลายเส้นแบบเซาะร่องลึกบนแผ่นหินที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย และจากการศึกษาพบว่านิยมเขียนภาพลายเส้นดอกไม้ และลวดลายธรรมชาติ โดยใช้สีน้อยมาก ได้แก่ สีขาว สีดำ และสีแดง

ลายกนกอยุธยา               ศิลปะอยุธยามีระยะเวลาสร้างสรรค์ที่ยาวนานถึง 417 ปี (พ.ศ. 1993-2310) และแผ่ความเจริญมาครองคลุมในภาคกลางของประเทศไทย มีงานจิตรกรรมที่นิยมเขียนลวดลายกระหนกที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ทั้งกระหนกเปลว และกระหนกก้านขด และมีการประดิษฐ์ลายเครือเถาทั้งลายดอกพุดตาน ลายดอกบัว และผักกูด ลายรดน้ำที่มีชื่อเสียง และงดงามที่สุด คือลายบานประตูตู้พระธรรม วัดเชิงหวาย
               สำหรับจิตรกรรมฝาผนังนิยมเขียนด้วยสีฝุ่นด้วยเทคนิคปูนแห้ง แสดงถึงเรื่องราวตามความศรัทธาเชื่อถือทางพระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ เขียนเป็นภาพทิวทัศน์ที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ และธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่เป็นบ้านเรือน แม่น้ำลำคลองในยุคสมัยนั้น ซึ่งจะมีคุณค่าอย่างสูงทั้งทางด้านความงาม ศิลปวัฒนธรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่แผงอยู่ในงานจิตรกรรม จึงมีการใช้สีเพิ่มขึ้นจากสมัยสุโขทัยอีกหลายสี เช่น สีเขียว สีม่วง และสีฟ้า เป็นต้น
              ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังหลงเหลือให้เราได้เห็น ความวิจิตรสวยงามนั้นเป็นสกุลช่างของ กรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้น ปรากฏว่าถูกทำลายลงไปเสียมาก
              จิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม และสมบูรณ์ที่ยังหลงเหลือให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนมากอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งจิตรกรในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ เข้าใจว่าคงจะมีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยานั่นเอง หลังจากเสียกรุงแก่ข้าศึกแล้ว ก็คงดำเนินงานตามแบบที่ตนถนัดต่อมาในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อมูลจากหนังสือ พุทธประวัติจากจิตรกรรมฝาผนังไทย 
จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น                ผลงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือว่าจิตรกรรมแบบประเพณีไทยได้พัฒนามาถึงขันที่สมบูรณ์สูงสุด สอดคล้องกับความจริงว่าจิตรกรรมที่เขียนในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเหล้าเจ้าอยู่หัวมีตัวอย่างมากแห่ง  จิตรกรรมที่วาดตามแบบอย่างประเพณีไทยมีสามแบบคือ (1) ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง วาดภาพพุทธประวัติเรียงกันไปจนรอบผนังทั้งสี่ด้าน  เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไปแบ่งเป็นแถว ๆ วาดภาพเทพชุมนุม เหนือขึ้นไปเป็นภาพฤาษีหรือนักสิทธิ์เหาะลอยอยู่ในอากาศเสมือนมานมัสการพระพุทธรูปที่เป็นประธานของอุโบสถ หรือพระที่นั่ง  การจัดวางภาพลักษณะนี้ปรากฎที่ผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรค์  (2) ผนังช่องหน้าต่างวาดภาพเกี่ยวกับทศชาติชาดกได้แก่เตมิยราชชาดก  มหาชนกชาดก  สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภุริทัตชาดก จันทกุมารชาดก (3) การวางตำแหน่งภาพไม่เป็นระบบระเบียบตายตัวเหมือนสองแบบแรก แต่จะวาดตามผนังทั้งสี่ด้านและด้านเสาเป็นเรื่องต่างๆกันไปจนเต็มผนังเช่นผนังวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวนาราม  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น